ข้อมูลหนังสือ
ผู้เขียน Margot Sunderland (มาร์โกต์ ซันเดอร์แลนด์)
ผู้แปล น.พ. ชัยพร วิศิษฏ์พงศ์อารีย์
จำนวนหน้า 276 หน้า
สำนักพิมพ์ : ซีเอ็ดยูเคชั่น, บมจ.
เดือนปีที่พิมพ์ : 2012
คำชวนอ่าน (ปกหน้า & ปกหลัง)
ความรักและการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ส่งผลยิ่งใหญ่ต่อสมองและพัฒนาการเด็ก ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์บางอย่าง อาจทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว
ในช่วง 5 ปีแรกของชีวิต สมองมนุษย์เติบโตถึง90% การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของสารเคมีในสมองเด็ก ส่งผลต่อบุคลิกและนิสัยใจคอตอนโต วิธีเลี้ยงดูของพ่อแม่ มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการสร้างสารเคมีทั้งดีและไม่ดีในสมอง คุณอยากให้ลูกโตขึ้นเป็นคนแบบไหน คุณกำหนดได้
รูปแบบการนำเสนอ
ถึงจะเล่มใหญ่และหนาราวกับ textbook แต่เมื่อเปิดอ่านแล้ว เป็นอีกเล่มที่วางไม่ลงจริงๆ ด้วยเนื้อหา (ส่วนของเนื้อหาขออธิบายด้านล่าง) และรูปแบบการนำเสนอ ที่มีสีสัน จัดวางรูปแบบของเนื้อหา รูปประกอบ ข้อมูลที่น่าสนใจ คำถามและคำตอบเรื่องสำคัญๆ รวมทั้งการสรุปประเด็นสำคัญของเล่มได้อย่างลงตัว เป็นหนังสือแปลที่อ่านลื่น ใช้ภาษาเข้าใจง่าย ศัพท์เกี่ยวกับสมองอาจจะเยอะหน่อย แต่ไม่ต้องกลัวหาข้อมูลไม่เจอ เพราะจะมีดัชนี (Index) ให้ค้นหาว่าสิ่งที่เราอยากอ่านมันอยู่หน้าไหนได้ เหมือน textbook ทั่วไป
ความเห็นส่วนตัว
หลายครั้งที่อ่านหนังสือพ่อแม่ แล้วเจอคำแนะนำหรือเทคนิคต่างๆ ที่ให้ทำนั้น ไม่ให้ทำนั้นทำนี้เพราะจะส่งผลเสียกับเด็ก หรือได้รับฟังความเชื่อหรือคำแนะนำในการเลี้ยงลูกจากทั้งพ่อแม่เราเอง ญาติผู้ใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญ และเพื่อนๆพ่อแม่ บ้างความเชื่อหรือคำแนะนำก็นำมาทำตาม บ้างก็ไม่เอามาใช่เพราะไม่เหมาะกับลูก เช่น ตอนเวลาลูกเป็นเบบี้ร้องแบบไม่รู้สาเหตุ บ้านแม่เราก็บอกรีบไปอุ้มลูกก่อน อีกบ้านแม่แฟนบอกอย่าไปอุ้ม อย่าโอ้มากเดี๋ยวเคยตัว บ้านญาติบอก ไหว้เจ้าที่หรือยัง เพื่อนๆบอก อุณหภูมิในห้องสูงเกิน ตอนนั้นก็ไม่คิดอะไรมาก เหมือนพ่อแม่ทั่วไปส่วนใหญ่ ทำอะไรก็ได้ให้ลูกหยุดร้องไห้ เพราะกลัวว่าลูกร้องไห้มากจะไม่ดีต่อเด็ก
เคยมั้ยที่ พอทำตามความเชื่อ หรือคำแนะนำต่างๆไปแล้ว กลับเกิดคำถามผุดขึ้นในใจว่า เออ มันใช่หรือ มันจะดีจริงหรือเปล่า ทำแล้วไง หรือที่บอกไม่ดีกับเด็ก มันไม่ดียังไง ไม่เข้าใจ แต่เพื่อให้ลูกได้สิ่งที่ดีที่สุดก็ยอมทำตามทั้งที่ไม่รู้เหตุผลที่แท้จริง พอลูกโตมาหน่อย เค้าบอกว่า อย่าพูด“ไม่” “ห้าม” “อย่า” กับลูก หรือห้ามลงโทษด้วยการตีลูก หรือการขู่หรือดุด่าลูกเพื่อให้ทำตาม ด้วยเหตุผลที่ว่าปิดกั้นเด็ก ทำให้เด็กไม่มีความคิดสร้างสรรค์ อืม มันจริงหรือ เพราะพ่อแม่เราสมัยก่อน หรือพ่อแม่ยุคไหนต่อไหนก็พูดกัน แล้วไง โทมัส แอนเดอร์สันก็ยังประดิษฐ์หลอดไฟขึ้นมาได้ แน่นอนว่าพ่อแม่เค้าคงมีดุด่าว่าตีตอนเด็กๆเหมือนกัน ที่บอกส่งผลไม่ดีต่อเด็กในระยะยาวมันจริงหรือ พิสูจน์ได้เปล่า
จากข้อคับข้องใจและขี้สงสัยส่วนตัวที่เก็บมาเรื่อยๆ ถึงสงสัยก็ทำตามที่เค้าแนะนำมาเกือบทุกอย่างเพราะเห็นว่าดีกับลูก หลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว โอ้แม่เจ้า มันช่างตอบโจทย์อะไรขนาดนี้ มันช่วยเฉลยข้อสงสัยเกือบทุกเรื่องที่เป็นปัญหา เป็นพฤติกรรมของเด็กตั้งแต่เกิดได้อย่างเป็นหลักเป็นการ ตามแนววิทยาศาสตร์ ตามหลักของประสาทชีววิทยา สมกับชื่อหนังสือThe science of parenting เขียนโดยนักจิตวิทยาชื่อดังชาวอังกฤษ ได้อธิบายเกี่ยวกับสมองของลูกในแต่ละส่วน ระบบการทำงาน สารเคมีที่สำคัญในสมอง เชื่อมโยงกับการทำงานของร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และอารมณ์ของลูก ช่วยให้เราไม่ต้องใช้วิทยาศาสตร์คุณแม่แบบคิดเองเออเองเลย ในทุกคำถามมีคำตอบ มีอ้างอิงผลการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อสมองและที่เกี่ยวข้องรองรับ คำถามและคำตอบเชิงวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ ก็อย่างเช่น
- เด็กทารกหลอกหรือบงการพ่อแม่ผ่านการร้องไห้ได้หรือไม่
- ถ้ายอมให้ลูกเล็กมานอนด้วย แล้วต่อไปเขาจะนอนคนเดียวได้ไหม
- เกมคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์มีผลต่อสมองลูกอย่างไร
- จะรับมือกับเด็กอาละวาด เด็กทะเลาะกัน เด็กไม่เชื่อฟัง หรือสงครามกับลูกในมื้ออาหารยังไง
- Time out ได้ผล และดีต่อเด็กจริงหรือ
- ลูกถูกรังแกเป็นประจำ จะทำอย่างไรดี
ฯลฯ
ตัวอย่างหนึ่งที่ตรงกับชีวิตจริง ยังจำได้เลยว่าตอนลูกยังเล็ก อยากฝึกให้ลูกหลับเองตามแบบฝรั่ง ปล่อยให้ร้องไป นั่งดูนาฬิกาไป เสียงร้องก็ไม่ได้ลดเลย มีแต่ดังขึ้นๆ สุดท้ายทนไม่ได้สงสารลูกก็นอน-กก-นมแม่กันมาจนสองสามขวบลูกก็เลิกไปเอง นอนเองได้แถมขี้เซาอีกต่างหาก ผู้เขียนอธิบายว่า ลูกน้อยนั้นเกิดมาพร้อมสมองในส่วนล่างซึ่งทำงานเรื่องร่างกาย การมีชีวิตอยู่รอด เป็นส่วนที่พัฒนาที่สุด ลูกร้องไห้ก็เพราะจะได้ให้พ่อแม่มาช่วยเหลือ พ่อแม่ควรตอบสนองลูกอย่างรวดเร็วและหนักแน่น เพื่อลดผลกระทบภายในสมองของลูกจากการร้องไห้ เมื่อสมองส่วนหน้าจะโตพอที่จะพึ่งพาตัวเองได้ เด็กก็จะลดการติดตัวกับแม่ได้เอง การไม่ตอบสนองลูกตอนร้องไห้หรือตอนที่ลูกต้องการกลับส่งผลเสียต่อลูกเสียอีก
Time out เป็นอีกอย่างที่สงสัยว่ามันดีจริงหรือ ได้ผลจริงหรือ เพราะทุกครั้งที่เคยลอง มันทำให้ลูกยิ่งโกรธมากขึ้น หรือบางครั้งลูกก็ไม่ใส่ใจกับการลงโทษ ผู้เขียนนำเสนอวิธีการ Time in คือแทนที่จะให้ลูกอยู่คนเดียว พ่อแม่ควรนั่งลงใกล้ๆลูก ช่วยปลอบโยนลูกซึ่งสมองกำลังปั่นป่วน และระบบโกรธกำลังทำงาน พ่อแม่ควรใช้เวลานั่งคุย ให้สนใจกับอารมณ์ของลูก ช่วยลูกจัดการอารมณ์หรือความรู้สึกที่ไม่อาจบรรยายได้ ความใส่ใจต่อลูก และรวมกันหาทางแก้ปัญหากับลูก ทำให้ลูกได้หลุดจากอารมณ์โกรธ และได้ใช้สมองส่วนหน้าในการคิดและเข้าใจว่าต้องจัดการยังไงกับเหตุการณ์ซ้ำเดิม แทนที่จะใช้ระบบโกรธหรือรุนแรงจากสมองส่วนล่างแทน
คิดง่ายๆ ก็คือ เวลาลูกแฮปปี้ ได้รับความรักและดูแลเอาใจใส่ หรือตอบสนองทั้งกายและใจในเวลาที่เหมาะสม สารเคมีและฮอร์โมนดีก็จะถูกปล่อยออกมา สมองในส่วนคิดวิเคราะห์มีโอกาสได้ทำงานได้ดี ลูกร้องไห้ หวาดกลัว หรือเครียด สารเคมีตัวเครียดก็จะออกมา ระบบการทำงานของสมองที่เกี่ยวกับความกลัว ความรุนแรง ความโกรธ เพื่อให้ชีวิตอยู่รอดจะทำงานและพัฒนาเข้มแข็งขึ้น มากกว่าสมองที่ทำหน้าที่คิด วิเคราะห์ ทำให้พฤติกรรมของลูกมีแนวโน้มที่จะก้าวร้าว แก้ไขปัญหาแบบรุนแรงอย่างอัตโนมัติ
ผู้เขียนยังให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองของผู้เป็นพ่อและแม่ เพราะรู้ดีว่าพ่อแม่เครียดและใช้เวลาและพลังงานส่วนใหญ่ไปกับการเลี้ยงดูและพัฒนาลูก ดังนั้น พ่อแม่เองก็ต้องให้เวลาดีๆ สงบๆ เติมพลังกายและพลังใจ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะพ่อแม่เป็นหลักสำคัญที่จะสร้างลูกให้เติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพในอนาคต
ระดับความน่ามีครอบครอง
เขียนมาขนาดนี้แล้ว ถ้าไม่แนะนำก็ไม่รู้จะว่าไงแล้ว เป็นคู่มือเลี้ยงลูกที่เหมาะกับพ่อแม่รุ่นใหม่อย่างเรา
อย่าลืมนำความรู้เรื่องสมองมาปรับใช้เพื่อเลี้ยงดูลูกให้เหมาะสมแล้ว แล้วจะทำให้ลูกๆของเรา เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตดี และมีความสุข