วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ลูกๆบ้านไหนที่พูดช้า เกินสองขวบแล้วยังไม่พูดเป็นคำ มีทิปฝึกพูดมาฝาก

ลูกๆบ้านไหนที่พูดช้า เกินสองขวบแล้วยังไม่พูดเป็นคำ วันนี้มีทิปฝึกพูดมาฝากค่ะ 

เจ้าตัวเล็กที่บ้านสองขวบสองเดือนแล้ว พูดออกเสียงได้แค่ตัวมอ กับจอจาน ส่วนคำอื่นจะออกเสียงเป็น ออ กับภาษาเอเลี่ยน จนเริ่มกังวลค่ะ ใครที่ไม่เคยมีลูกพูดช้าอาจจะไม่เข้าใจว่า พ่อแม่กังวลมากแค่ไหน การรอคอยให้ลูกพูดได้เนี่ย มันต้องใช้ความอดทนมากเลยค่ะ ยิ่งเห็นเด็กในวัยเดียวกันพูดได้คล่อง ร้องเพลง น่ารัก เรายิ่งร้อนรนมาก ไม่แน่ใจว่า ทำไมลูกถึงยังไม่ยอมพูด เมื่อเห็นว่า ลูกอาจจะขาดหรือพร่องทักษะในการพูด เราพ่อแม่มีหน้าที่สร้างและเสริมให้ลูกเป็นไปตามพัฒนาการของวัยเขาอย่างเหมาะสมค่ะ



เราได้รู้จักคุณครูฝึกพูดเด็กท่านหนึ่ง ซึ่งช่วยประเมินน้อง และให้คำแนะนำที่มีประโยชน์มากๆสำหรับฝึกลูก เบื้องต้นครูบอกว่าน้องปกติดี แต่ต้องฝึกบริหารปากและลิ้น ให้วิธีฝึกหลักๆกับคุณแม่มา ครูว่ายิ่งฝึกเร็วก็ยิ่งดีค่ะ และบอกว่าให้เวลาถึงสองขวบครึ่ง ถ้ายังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปฝึกพูดกับนัก

การฝึกพื้นฐานให้ลูกพูดได้ มี 4 ข้อค่ะ 
1. ฝึกเป่า ให้ลูกเป่าลม เพื่อให้มีแรงออกเสียง 
2. ฝึกลิ้น ขยับลิ้น แลบลิ้น เพราะภาษาไทยใช้ลิ้นเยอะ เด็กพูดช้า พูดไม่ชัดต้องฝึกค่ะ
3. ฝึกการขยับปาก ให้ทำปาก 3 เสียงให้ได้ คือ อา อี อู หากรูปปากไม่ถูกต้อง จะทำให้พูดไม่ชัดหรือออกเสียงไม่ถูกต้อง
4. สอนคำศัพท์ เพื่อให้เด็กมีคำศัพท์เยอะๆ เพราะบางครั้งไม่พูดเพราะไม่รู้ว่าจะเรียกอะไร

ย้ำว่าพื้นฐานด้านบนต้องทำเป็นประจำ ทุกวัน เพื่อให้เด็กมีปาก ลิ้นที่พร้อมในการพูด และมีศัพท์เพื่อพร้อมใช้สื่อสาร ให้ใช้เพียงภาษาเดียวก่อน คือ ภาษาไทย ให้เด็กมีภาษาแม่เกาะให้ได้ก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กแต่ละคนมีความสามารถไม่เท่ากัน บางคนรับและถ่ายทอดได้หลายภาษาในเวลาเดียวกัน แต่บางคนอาจไม่พร้อมค่ะ 

ครูเสริมเทคนิคอีกด้วยค่ะว่า เวลาพูดกับลูกต้องชัดเจน เข้าใจง่าย พูดให้ตรงกับสิ่งที่ต้องสื่อหรือทำ ให้กลับไปทดลองหาวิธีที่เหมาะกับลูกเรา จดบันทึกผลและกลับมาทบทวนค่ะ

ในช่วงเวลา 2 เดือน จุ๊บทดลองหลายวิธีเลยเพื่อให้ลิงวัย terrible two ทำตามด้วยความสนุก สรุปกิจกรรมได้ประมาณนี้ค่ะ

การฝึกเป่า เป่าทุกอย่างเลย เริ่มจากง่ายๆ เช่น กระดาษทิชชู สำลี ไปจนหนังยาง และเทียน แต่ธรรมดาไป 
- เป่าพุง ลูกชอบเป่าพุงแม่มาก เป่าได้จะมีเสียงเหมือนตด สลับกันเป่า ขำฮามากค่ะ
- เป่าซุปหรือของร้อนๆ ถ้าไม่เป่า อดกิน
- เป่าที่สนุกที่สุดกลับเป็น เป่าน้ำค่ะ จุ๊บใช้กรวยกรอกน้ำ เอาด้านกว้างลงน้ำแล้วเป่าค่ะ ฟองน้ำระเบิดบูม มันส์มาก อยากทำตามทันที แต่เด็กมีโอกาสดูดน้ำเข้าไปนะคะ ต้องสอนให้เค้าเป่าไม่ใช่ดูดค่ะ

การฝึกลิ้น 
- เลียไอติมหรือของกิน ให้ลูกเลียไอติมแล้วค่อยๆเลื่อนออกมาเรื่อยๆ หรือโยกซ้ายขวาเพื่อให้ลูกยืดและบริหารลิ้น 
- เอาน้ำผึ้ง เม็ดข้าว หรือจะใช้ของกินที่ลูกชอบมาติดที่ริมฝีปาก ให้ลูกใช้ลิ้นเลียเข้าปาก สามารถฝึกได้ช่วงทานอาหารค่ะ เนียนๆสนุกดีค่ะ
- ทำลิ้นรัวๆ และเคลื่อนไหวท่าแปลกให้ลูกดูและทำตาม เล่นกันหน้ากระจกจะสนุกมากค่ะ
- แข่งแลบลิ้นยาว ใครแลบได้นานชนะ

การฝึกรูปปาก
- สอนที่ละเสียง วันหรือสัปดาห์ละเสียงหนึ่ง เด็กได้ไม่สับสน
- สอนพูดเวลาเล่นกันหน้ากระจก ให้ลูกเห็นปากเราชัดๆ หรือถ้านั่งสอน ให้นั่งอยู่ในระดับเดียวกับลูก
- ใช้ของเล่นหนึ่งชิ้นต่อหนึ่งเสียง เช่น เวลาไถรถ แม่ก็จะทำเสียง วี่วี่ ให้ลูกเห็นปาก และให้ลูกลองออกเสียงตาม 
- ชอบเล่นตอนอาบน้ำค่ะ หลังจากเกมเป่าน้ำ เราต่อด้วยการร้องเพลงออกเสียงได้ค่ะ 

การสอนศัพท์
- พาไปเห็นของจริงๆ เวลาสอนศัพท์ เชื่อมโยงศัพท์กับสิ่งที่เห็น ช่วยให้เด็กจดจำได้ง่ายและน่าสนใจกว่าพูดลอยๆ เช่น ชี้นก สอนเรียก นก แล้วถ้าเรียกเป็นแล้ว
- ใช้ของเล่นหรือแฟรชการ์ดหรือสิ่งของที่จะสอนคำศัพท์เอาของมาใกล้ๆปาก พูดให้เห็นปากเรา
- เรียกสิ่งรอบตัวลูก สิ่งที่เจอตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับ ชี้ชวนให้ดูและพูดตาม ใส่ข้อมูลเยอะๆ
- ที่ขาดไม่ได้เลย คือ อ่านนิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟังค่ะ เราสามารถเปลี่ยนคำในเรื่องให้มันง่ายลง ให้เขาฟังเข้าใจ

กิจกรรมด้านบน เน้นว่าต้องทำเป็นเกมหรือเล่นสนุกกัน เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกว่าโดนสั่งหรือบังคับให้ทำ คุณพ่อ คุณแม่สามารถฝึกลูกได้ตลอดเวลาค่ะ หากสามารถจัดตารางเวลาที่แน่นอนเพื่อฝึกจะดีที่สุดค่ะ 

นอกจากนี้ พยายามพาเด็กพูดช้า เข้ากลุ่มเด็กๆบ่อยๆค่ะ เพราะเขาดูและทำเลียนแบบเพื่อน เด็กจะฟังเสียงเด็กด้วยกันได้ดีกว่าเสียงผู้ใหญ่นะคะ ถ้ามีพี่ ให้พี่ๆที่พูดชัดๆ สอนน้องพูดได้ค่ะ ได้ผลดีที่เดียวเลย

เพียงสองเดือน ลูกพูดออกเสียงอื่นได้เพิ่มขึ้น สามารถพูดเป็นประโยคยาวๆ จากที่พูดเป็นคำๆ สามารถบอกสี ชื่อสัตว์ ยี่ห้อรถ และศัพท์ยากๆ ได้ ถ่ายทอดความต้องการและความรู้สึกของตัวเองผ่านคำพูดได้ แต่ยังพูดไม่ชัด และมีภาษาเอเลี่ยนอยู่เล็กน้อย ยังไงก็มั่นใจค่ะยังไงลูกต้องพูดได้แน่นอนค่ะ 

ใครมีไอเดียดีๆ แลกเปลี่ยนกันได้ค่ะ

วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

มาหยุดยื่น Smart phone หรือ Tablet ให้ลูกกันเถอะค่ะ


ดูเหมือนคุณพ่อคุณแม่ทุกคนรู้ค่ะว่าการหยุดเด็กที่งอแงหรือซุกซนด้วย Smart phone หรือ Tablet หรือแม้แต่เปิดทีวิให้เด็กดู เป็นสิ่งที่ไม่ดี และไม่ควรทำ แต่ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาหยุดเจ้าตัวน้อยให้หายงอแง ซุกซนในเวลาอันรวดเร็ว

อยากให้ลองคิดจินตนาการใหม่อีกทีนะคะ ว่าถ้าในโลกนี้ไม่มีเจ้ามือถือหรือหน้าจอทัชสกรีน หรือแม้แต่ทีวี เราจะทำยังไงให้ลูกหยุดงอแงหรือซุกซนค่ะ พ่อแม่สมัยก่อนยุคเทคโนฯรุ่งเรื่องยังปราบลูกได้ด้วยสองมือหนึ่งสมองเลยค่


มันมีหลายวิธีมากเลยโดยไม่ต้องดุหรือใส่อารมณ์กับลูกค่
- การงอแงเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้าค่ะ พ่อแม่ควรรู้ว่าทำไงที่จะป้องกันไม่ให้ลูกงอแง เช่น ง่วงนอน หิวข้าว เล่นไม่เลิก ฯลฯ ควรคุยตกลงกับลูกล่วงหน้า
- เด็กซนเป็นเรื่องปกติค่ะ หากอยากให้หยุดซน ต้องหาอะไรที่สนุกกว่าที่เค้าเล่นซนอยู่ค่ะ ใช้ตัวเองนั่นแหล่ะค่ะเล่นกับลูก เพราะพ่อแม่เล่นด้วยเป็นสุดยอดของเล่นที่สนุกที่สุด
- แสดงความเห็นใจลูกเพราะเขากำลังปั่นป่วนกับสิ่งที่จัดการไม่ได้ด้วยตัวเอง อยู่ข้างๆ ปรับอารมณ์ลูกให้เย็นลง
- ระหว่างนั้นลองสำรวจความต้องการที่แท้จริงของลูกว่าอยากทำ หรืออยากได้อะไรกันแน่ ถามไถ่เช็คดูว่าเขาคิดยังไง เป็นอะไร
- ลองเสนอตัวอ่านหนังสือที่ลูกชอบมากๆให้ลูกฟัง ชวนลูกไปเลือกหนังสือที่อยากให้อ่าน อ่านด้วยความคึกคักน่าสนใจ ช่วยเบี่ยงเบนความซนให้หยุดนิ่งได้ค่ะ

ยืนยันว่าลูกๆชอบฟังนิทานหรือเรื่องราวๆต่างๆในเรื่องที่เขาสนใจหรือเรื่องใหม่ๆ ไม่ว่าวัยไหนก็ตามค่ะ

"หยุดยื่น Smart phone หรือ Tablet ให้ลูก
ลองนั่งข้างๆ แล้วอ่านหนังสือดีๆสักเล่มให้ลูกฟัง
ได้ ฟิน ทั้งลูกทั้งพ่อแม่ รับรอง"

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พาลูกเล่นอย่างไรไม่ขัดการเรียนรู้ลูก

"เล่นอันนี้ดีกว่าตรงนี้มันยาก" "ปีนตรงนี้เตี้ยหน่อย" "เดี๋ยวแม่ดึงตัวหนูให้"

รู้มั้ยค่ะ บางครั้งความหวังดีของเรา อาจจะไปปิดโอกาสได้เล่นได้เรียนรู้จังหวะการเคลื่อนไหวของลูกค่ะ 


เด็กๆในวัยอนุบาลเป็นวัยกำลังพัฒนาด้านร่างกาย ใช้ฐานกายเป็นหลัก การได้เล่น ออกกำลังกาย หรือปีนป่ายบนเครื่องเล่นถือเป็นส่วนเสริมประสาทสัมผัสด้านการเคลื่อนไหวได้เป็นอย่างดี ที่หาไม่ได้ที่บ้าน เครื่องเล่นกลางแจ้งตามโรงเรียนส่วนใหญ่จะออกแบบมาให้เด็กได้ใช้ทักษะทางร่างกาย กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการวางแผนการเคลื่อนไหวว่าจะว่ามือ หรือเท้าอย่างไรให้ไม่ตก หรือปีนขึ้นไปได้อย่างปลอดภัย 


หากคุณพ่อคุณแม่ยังเป็นห่วงหรือกังวล ก็ควรสำรวจสถานที่เล่น และเครื่องเล่นว่าแข็งแรงดีมั้ย และเหมาะกับวัยของลูกเราหรือมั้ยเป็นอย่างแรกค่ะ ถ้าโอเคก็ควรปล่อยให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระค่ะ


เมื่อคุณพ่อคุณแม่พยายามเข้าช่วยดึง จูงหรือลากเด็กในระหว่างเล่น ทำให้เด็กไม่ได้ลองคิดหรือทดลองว่าควรเคลื่อนที่อย่างไร ในการครั้งเล่นต่อไป เด็กๆอาจจะไม่มั่นใจ หรือพลาดได้ง่าย คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยดูและเป็นกำลังใจอยู่ใกล้ๆอย่างใกล้ชิด และให้ความช่วยเหลือในเวลาที่ลูกทำไม่ได้จริงๆ หรือในช่วงที่อาจจะเกิดอันตรายกับลูกค่ะ วิธีนี้จะไม่ไปขัดจังหวะการเล่นของลูก และยังช่วยให้เด็กๆได้ทดลองร่างกายได้อย่างเต็มทีค่ะ


เมื่อเด็กๆทำได้ดีขึ้น ควรชี้ชวนให้ลูกลองเล่นที่ยาก หรือท้าทายขึ้นอีกขั้นค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลใกล้ชิดมากขึ้น ทำใจสบายอย่ากังวลนะคะ ลูกรับรู้ความรู้สึกเราได้ค่ะ เมื่อพ่อแม่เป็นใจ ลูกก็จะกล้าที่จะเล่นมากขึ้น เมื่อทำได้ ควรให้คำชม หากลูกไม่กล้าหรือทำไม่สำเร็จ ก็ให้กำลังใจไว้ลองใหม่ค่ะ


สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกที่ซุกซนมาก ไม่กลัวอะไรเลย เล่นลุยได้ทุกที ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มีร่างกายแข็งแรงและมีทักษะการเคลื่อนไหวดี การดูแลควรจะเป็นอีกแบบค่ะ ลองให้ลูกได้เล่นอะไรที่ช้าลง ใช้แรงมากขึ้น อยู่ที่นิ่งๆมากขึ้น เช่น การโหนบาร์ หรือปีนเชือก ที่สามารถจำกัดวงการเล่นไม่โลดโผนมาก เด็กพวกนี้จะชอบเกมที่ท้าทายขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถเพิ่มเงื่อนไขในการเล่น แต่ต้องอยู่ในพื้นฐานของความปลอดภัย และดูแลใกล้ชิดค่ะ


ลองทำดู ไม่ยากค่ะ


แม่จุ๊บ DIY4kid

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อธิษฐานสิจ๊ะ วัน Tanabata

วันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี เป็นวันฉลองวัน Tanabata หรือ เทศกาลแห่งดวงดาว Star Festival เป็นวันที่ Orihime หรือเจ้าหญิงทอผ้า และฮิโกะโบชิ หนุ่มเลี้ยงวัวจะได้มาเจอกันที่ทางช้างเผือกปีละครั้ง



แม้จะเป็นตำนานความรักโรแมนติกที่แสนเศร้า แต่เทศกาลจริงสนุกสนานมากมาย และยังเป็นวันแห่งคำอธิษฐาน เด็กๆจะรอคอยวันนี้ เพื่อจะได้เขียนขอพรที่เฝ้ารอ ซึ่งเชื่อกันว่า พรที่ขอในวัน Tanabata จะได้เป็นจริง ชาวญี่ปุ่นจะตกแต่งบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ อย่างสวยงาม ด้วยโคมไฟ ต้นไผ่ กระดาษและเครื่องตกแต่งบนต้นไผ่ ซึ่งก็มี 7 ประเภท มีความหมายต่อพรแต่ละประเภท




Tanzaku 「短冊」ซึ่งเป็นกระดาษยาวๆ หลากสี สำหรับขอพรเรื่องการเรียนและการงาน 
Kinchaku 「巾着」กระดาษรูปกระเป๋า สำหรับขอเรื่องการเงิน และกิจการรุ่งเรือง 
Kamigoromo 「紙衣」กระดาษรูปกิโมโน สำหรับขอให้ทอผ้าได้ผลดี ทำอะไรก็สำเร็จลุล่วง
Toami 「投網」 กระดาษรูปตาข่าย สำหรับขอพรเรื่องการเกษตรและประมง เก็บเกี่ยวผลผลิตดี
Orizuru 「折り鶴」กระดาษนกกระเรียน สำหรับขอเรื่องสุขภาพ อายุยืน 
Kuzukago 「くずかご」กระดาษรูปตาข่ายเก็บขยะ สำหรับขอให้บ้านเรือนสะอาด และเก็บเงินอยู่
Fukinagashi 「吹き流し」กระดาษตกแต่งแทนกระสวยทอผ้าของเจ้าหญิง Orihime 


เด็กๆ จะเขียนขอพร และแขวนประดับไว้ตามกิ่งไผ่  ทั้งกิ่งไผ่และของประดับ รวมถึงคำอธิษฐานจะถูกเผาในตอนเที่ยงคืนหรือไม่ก็วันรุ่งขึ้น เพื่อพรนั้นเป็นจริง


สำหรับพวกเราชาวไทย ลองชวนเด็กๆ ดูท้องฟ้ายามค่ำคืนของวันที่ 7 เดือน 7 จะมีดาวฤกษ์สุกสว่าง 2 ดวง คือ ดาว Vega ของเจ้าหญิงโอริฮิเมะ (เป็นดาวที่สดใสที่สุดในกลุ่มดาวพิณ) และดาว Altair ของฮิโกะโบชิ (เป็นดาวที่สดใสที่สุดในกลุ่มดาวนกอินทรี) โคจรข้ามทางช้างเผือกมาพบกัน  จะได้เจอกันจริงมั้ย 


แล้วอย่าลืมอธิษฐาน ขอพร นะคะ



Review หนังสือพ่อแม่ สะพานสายรุ้ง

รีวิวหนังสือพ่อแม่ สะพานสายรุ้ง
เสนอแนะแนวทางในการประคับประคองนำทางเด็กผ่านกระบวนการจุติตามทิศทางที่รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ให้ไว้

รวบรวมโดย รัถยาคม สถาบันเพื่อการศึกษาแนววอลดอร์ฟและมนุษยปรัชญา

หนังสือที่รวบรวมบทความที่เกี่ยวข้องการดูแล เลี้ยงดู และพัฒนาเด็กตามแนวทางของโรงเรียนวอลดอร์ฟ เพื่อเผยแพร่ให้กับผู้ปกครองของเด็กๆที่โรงเรียนปัญโญทัย และผู้ที่สนใจแนวทางนี้ ได้เข้าใจถึงวิถีของวอลดอร์ฟซึ่งมีความแตกต่างและสวนทางกับกระแสสังคมหลักหลายเรื่องค่ะ 

หนังสือมีบทความสั้นๆนำเสนอแนวคิดและการปฏิบัติกับลูกในแนวทางที่เข้ากับธรรมชาติของเด็ก สิ่งที่พ่อแม่พยายามส่งเสริม หรือเลือกสรรค์อย่างดีให้ลูกได้ใช้ชีวิตประจำวัน การศึกษา เทคโนโลยี การเล่นกีฬา หรือแม้แต่อาหารการกิน อาจส่งผลกระทบหรือผลเสียกับตัวเด็กโดยไม่รู้ตัว 




หลายบทความสะท้อนสภาพสังคมและครอบครัวในปัจจุบันนี้ที่ภาพลักษณ์มาก่อน ชอบโชว์ชอบแชร์ เด็กๆซึมซับสิ่งต่างๆจากสื่อและสังคมรอบด้านโดยไม่รู้ตัว เด็กๆเห็นไอดอลนุ่งสั้น เต้นเด้งหน้าเด้งหลัง แต่งหน้าจัด พูดจาจีบปากจีบคอราวกับนางร้ายในละครทีวี ผู้ใหญ่เห็นก็ชื่นชมว่า เด็กเก่ง กล้าแสดงออก แต่มันใช่จริงหรือ เด็กควรถูกดูแลและให้ใช้ชีวิตอย่างเป็นเด็ก ไม่ใช่เวลาที่เด็ก ซึ่งมีวุฒิภาวะไม่พอมาแยกแยะอะไรควรไม่ควร จะรีบโตและใช้ชีวิตดราม่าเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากตัวผู้ใหญ่เป็นหลัก


แนะนำให้อ่านเรื่องเด็กกับเทคโนโลยี และทีวีมากๆ  เพราะมีอ้างอิงสถิติและการวิจัยว่า เด็กไม่ควรเข้าถึงหรือใช้เทคโนโลยีและดูทีวีมากเกิน มีแต่ข้อเสียมากกว่าข้อดีที่ผู้ใหญ่หลงคิดว่า จะช่วยให้ลูกฉลาดและเก่งขึ้น แต่กลับกัน เด็กๆไม่ได้พัฒนากระบวนการคิดฟ จินตนาการ หรือทักษะชีวิตด้านใดๆเพิ่มขึ้นเลย แถมยังถูกพาสื่อที่เข้าถึงง่ายมากผ่านอินเตอร์เน็ทหรือทีวี และข้อมูลที่ไม่ได้โดนคัดกรองอย่างเหมาะสม เช่น เกมสงครามฆ่ากัน ละครตบจูบ เป็นต้น ให้หลงไปกับวัตถุนิยมและกระแสสังคมของผู้ใหญ่  ซึ่งมีแนวโน้มที่จะปลูกผังความรุนแรงและเรื่องของเพศให้เด็กก่อนวัยอันควร

อีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่น หลักสูตรวอลดอร์ฟไม่ส่งเสริมให้เด็กเล็กการเขียนอ่าน เน้นศิลปะเป็นหลัก หรือให้เล่นกีฬาจริงจังตั้งแต่เล็กๆ ฯลฯ ทุกอย่างได้ถูกออกแบบและกลั่นกรองมาอย่างดีแล้วตามพื้นฐานและธรรมชาติของเด็กในแต่ละช่วงอายุ ให้ในสิ่งที่เหมาะกับภาวะของเด็กในเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ วอลดอร์ฟให้ความสำคัญกับพัฒนาการทางภายในเด็ก (ด้านจิตใจ) ให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบ และคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง เป็นทักษะชีวิตที่โรงเรียนกระแสหลักแทบจะไม่เห็นมีสอน 


อยากให้ลองหาอ่านกันดูค่ะ เปิดมุมมองของการเลี้ยงดูแลและการศึกษาแนวทางเลือก แม้คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ตั้งใจให้ลูกเข้าโรงเรียนแนวนี้ ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับลูกได้เกือบทุกอย่างค่ะ เมื่อพ่อแม่เปิดใจ และเข้าใจธรรมชาติลูกที่แท้จริง ก็ไม่ยากที่จะช่วยประคับประคองให้ลูกสามารถใช้ชีวิตและเรียนรู้ได้อย่างมั่นคงและมีความสุขค่ะ