สื่อและภาพข่าวรุนแรง หลีกอย่างไรให้ไกลลูก
จากเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 พอเปิดมือถือมาเจอแต่รูปน่ากลัวสยอดสยองมาก ทั้งในข่าวและที่แชร์ รวมทั้งข้อมูลข่าวสารอีกมากมาย อ่านแล้วเศร้าใจกับผู้สูญเสีย หากเป็นภาพของญาติหรือคนรู้จักเราคงรู้สึกแย่มากๆ ที่เอารูปมาเผยแพร่อย่างนี้
จากความจริงที่โหดร้าย พอเหงยหน้าออกจากมือถือ มองดูเจ้าเด็กน้อยทั้งสองอ่านหนังสือ เล่นของเล่นก่อนนอน ดูไม่เดือดไม่ร้อนกับสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปกติแม้แต่น้อย เลยลองถามฮั่นว่า รู้มั้ยเกิดระเบิดในเมือง ฮั่นตอบแบบมั่นใจ รู้แล้ว รู้ก่อนมามี้อีก เออ จริง เห็นนั่งดูข่าวกับพ่ออยู่ ตัวเองไม่ได้ดูทีวีแต่แน่ใจว่าคงไม่มีรูปโหดๆแบบที่แชร์กันบน Social media แน่นอน อีกอย่างนั่งดูกับพ่อด้วยกันก็หมดห่วง เพราะมีคนเซ็นเซอร์ภาพและเนื้อหาโหดๆให้
เรื่องสื่อนี้น่ากลัวมากจริงๆ มันใกล้ตัวเรามากแค่ในกำมือเรา ยิ่งสมัยนี้ คนทำสื่อนิยมทำให้ง่าย โชว์รูปและคำอธิบายสั้นๆแรงๆให้ดึงดูดคนอ่าน ขนาดผู้ใหญ่ยังหลงเชื่อ คล้อยตามเนื้อหาจากสื้อต่างๆ อันนี้คิดแล้ว แล้วถ้าเป็นเด็กๆ เห็นเข้าจะเป็นอย่างไรกัน
นอกจากทีวี คอมพิวเตอร์ สื่อที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้คือ มือถือ เด็กประถมสมัยนี้มีสมาร์ทโพนและสามารถเล่นเน็ทแบบถูกๆไม่อั้นกันแล้ว กลับบ้านมาเปิดยูทูปดูเพลงเต้นเด้งหน้าเด้งหลัง เล่นเกมออนไลน์สู้รบ ยิงกัน หรือแชทไลน์กับเพื่อน กลายเป็นโลกเสมือนจริงส่วนตัวที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ในนั้นค่ะ เด็กที่ไม่ค่อยได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ หรือผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด หรือเด็กที่ครอบครัวปล่อยตามใจให้ใช้จนติด เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นเหยื่อของสื่อได้ง่ายที่สุด เพราะฐานในบ้านไม่แน่นพอที่จะทำให้เด็กเชื่อตามว่า สิ่งใดดีหรือไม่ดี เด็กพวกนี้เชื่อคนนอกมากกว่าคนในบ้านค่ะ (จริงๆก็ไม่ต่างอะไรกับผู้ใหญ่บางประเภทเน้อ)
แล้วควรทำยังไงกับเรื่องนี้ จุ๊บว่าควรดูตามวัยของเด็กค่ะ สำหรับเด็กเล็กควรพาให้ห่างสื่อให้ได้มากที่สุดค่ะ ข้อแนะนำ
- สำหรับเด็กเล็ก ดีที่สุด คือ ผู้ใหญ่ควรนั่งดูทีวีหรือมือถือด้วยกัน ระหว่างดูจะได้ช่วยสอนชวนลูกคุยและคิดตาม อย่าปล่อยให้เด็กนั่งดูละครน้ำเน่าข้างๆเราเลยค่ะ ไว้ลูกหลับค่อยไปดูในยูทูปดีกว่า
- ผู้ใหญ่ต้องเป็นคนกำหนดขอบเขตเนื้อหา หรือคัดกรองข้อมูลที่เด็กเข้าไปดู ให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก ทั้งการ์ตูน เกม คลิป หรือเวปภาพต่างๆ อันไหนไม่เหมาะไม่ต้องให้เห็นเลยค่ะ
ข่าวโหดๆ เช่น อุบัติเหตุหรือภัยพิบัติ เราเล่าให้ลูกฟังด้วยภาษาง่ายๆ แทนให้ดูภาพ ใช้เป็นอุทาหรณ์ในเรื่องความปลอดภัยได้ค่ะ แต่อย่าใช้เป็นคำขู่นะคะอันนี้เป็นผลเสียกับเด็กค่ะ
- จำกัดการเข้าถึงสื่ออย่างชัดเจน ใช้นานเท่าไร ใช้ผ่านอุปกรณ์อะไร มือถือหรือไอแพด อย่าคิดว่าถ้าลูกไม่ได้เล่นจะงอแง ร้องแค่นี้ไม่ตายค่ะ เอาอย่างอื่นให้ลูกเล่นแทนดีกว่า
- ผู้ใหญ่ต้องคอยเช็คอุปกรณ์นำสื่อบ่อยๆเป็นประจำ ติดตั้ง security blockและจำกัดสิทธิการใช้งานในส่วนที่ไม่เหมาะกับเด็ก เด็กๆฉลาดกว่าที่เราคิดนะคะ password ควรเปลี่ยนบ่อยๆ เพราะเค้าแอบเห็นเรากดครั้งเดียวก็จำได้แล้วค่ะ
- สำหรับเด็กโต ต้องคุยตกลงกับเด็กให้ชัดเจนและเข้าใจตรงกันกติกาที่ตั้งไว้ และต้องให้เกียรติไม่ก้าวก่ายลูก ยกเว้นลูกทำผิดกติกา หรือมีสัญญาณพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมค่ะ
- ข้อนี้ ยากสุดแต่ได้ผลที่สุดค่ะ คือผู้ใหญ่ทำเป็นตัวอย่างให้ลูกดู ทำเป็นประจำ พูดจริงทำจริงค่ะ และต้องทำกันทั้งครอบครัวไปในทิศทางเดียวกัน ลูกไม่มีข้ออ้างอะไรมาขออีกค่ะ
สื่อมีประโยชน์ดีๆสำหรับเด็กก็มีเยอะค่ะ ถ้าฉลาดใช้มันก็จะช่วยพัฒนาเด็กๆของเราได้ค่ะ
มีไอเดียอะไรเพิ่มเติม แลกเปลี่ยนกันได้ค่ะ
แม่จุ๊บ
Credit รูป : thaihealth.or.th