เคยถาม hubby ว่า ทำยังไงถ้าลูกไม่อยากไปเรียนพิเศษ หรือทำนั้น ทำนี้ ที่เพิ่งไปสมัครไปแล้ว ตัวอย่างของเรื่อง เช่น อยู่ๆ ฮั่นก็มาบอกไม่อยากไปเตะฟุตบอล ทั้งที่ตอนแรกอยากไป แม่มันก็อุตสาห์หาซื้อชุดฟุตบอล พ่อมันพาไปซื้อรองเท้าบอลดีๆ (ฮั่นชอบใส่แต่รองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบไม่ได้ซื้อมานานมาจนเล็กหมดแล้ว)
Hubby ถามสวนกลับ : เป้าหมายที่ให้ไปเตะบอลคืออะไร
เรา : อยากให้ลูกได้ออกกำลังกาย และได้เล่นกับเพื่อน มีเพื่อนเยอะๆ
Hubby เล่าสภาพการเรียนฟุตบอลให้ฟังว่า ช่วงที่ครูสอนให้เด็กเข้าแถวเตะหรือทำเดี่ยวๆ ฮั่นจะสนใจและสนุกมาก แต่พอแบ่งทีมให้เล่นในสนาม เค้าวิ่งตาม แย่งลูกเพื่อนไม่ทัน ลูกเลยรู้สึกไม่สนุก ฮั่นก็ไม่ได้เล่นกับคนอื่นๆ
เรา : อ้อ แล้วงี้ทำไง ไม่อยากเล่น ก็ไม่ต้องไปหรือ
Hubby : เธอไปคุยกับลูกดูเอง
เหตุการณ์นี้คงเกิดขึ้นกับหลายบ้าน และก่อให้เกิดเรื่องทะเลาะ หรืออารมณ์เสีย เมื่อลูกมาขอเลิกเรียนพิเศษหรือกีฬาที่พ่อแม่เสียเงินไปแล้ว บ้างครั้ง กลายเป็นพ่อแม่ทะเลาะกันเองก็มีเพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้อยากให้ไปตั้งแต่แรก แถมพอมองไปที่ไอ้เจ้าลูกตัวตนเหตุ ก็ไม่มีอาการเดือดเนื้อร้อนใจ ก็หนูไม่อยากไปแล้วนิ
คาดการณ์อยู่ในใจตั้งแต่เริ่ม ว่าฮั่นจะไปเรียนฟุตบอลได้ไม่นาน ด้วยเราก็คิดวิเคราะห์หลายด้าน และปัจจัยหลายๆอย่างทุกครั้งที่จะเลือกกิจกรรมพิเศษหรือกีฬาหรือเรียนพิเศษให้ลูกเสมอ โดยปัจจัยหลักๆก็คือ
1) ความพร้อมทางร่างกาย สำหรับเด็กวัยก่อนอนุบาลและอนุบาล เรื่องความสามารถของการใช้กล้ามเนื้อ และกำลังกายเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่พ่อแม่ต้องดูเวลาเลือกเรียนกีฬา เพราะการเรียนอะไรที่เกินกว่าวัยเด็กอาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี นอกจากนี้ ต้องดูว่าเด็กมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่เรียนได้มากแค่ไหน การเร่งให้เด็กไปเรียนว่ายน้ำ เรียนไวโอลีนหรือเปียโนตั้งแต่เด็กมากๆ ลูกอาจจะทำได้ไม่ดี เพราะเป็นการเรียนที่ต้องใช้สมาธิสูง และกล้ามเนื้อและประสาทในการรับรู้หลายด้านพร้อมกัน หน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องศึกษานะคะว่าเด็กวัยไหนเรียนอะไรบ้าง อย่างที่บอกว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กบ้างคนอายุยังไม่ให้แต่ร่างกายให้ก็สามารถเรียนได้เร็วกว่าก็เป็นได้
> วิเคราะห์คุณลูกชาย : กำลังขาของฮั่นที่ยังไม่แข็งแรง เดินหรือวิ่งยังหกล้มอยู่บ่อยๆ เมื่อเทียบกับเพื่อนที่โตๆกว่า แต่เพราะเราอยากจะให้ลูกได้วิ่งออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อขา และได้เล่นสนุก เลยมองข้ามส่วนนี้ไป
2) ความพร้อมทางจิตใจ ลูกต้องชอบและสนใจสิ่งนั้นก่อน สรุป Hubby และเรายึดหลักว่า “ต้องทำให้เค้ารักสิ่งนั้นก่อน เรื่องอื่นจะตามมาเอง” อยากสร้าง Inspiration ในการเรียนให้เกิดในตัวลูกก่อน เพราะมันเป็นตัวที่ทำให้ลูกยึดมั่น และตั้งใจจะทำให้สำเร็จ ความสนุกสนานก็เป็นหนึ่งใน inspiration ได้เหมือนกัน
แต่ในบ้างมุม เด็กก็คือเด็ก ชอบมันทุกอย่าง หรือไม่ก็เกลียดกลัวไปทุกอย่าง หรือวันนี้บอกอยากไปเรียนจะเป็นจะตาย อีกวันก็เปลี่ยนใจบอกเบื่อ ก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องช่วยคัดกรองกันไป ถ้าเห็นว่าดีแล้วลูกไม่ชอบ เราก็จะลอง build ลองสร้างบรรยากาศ โน้มน้าวชัดจูง หลอกล่อกันหน่อยให้ลูกเห็นว่าดี แล้วพาไปลองดูว่าเค้าโอเคมั้ย ถ้าลูกชอบ ทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าไม่ชอบจริงๆ ก็ไม่ไปต่อ
>วิเคราะห์คุณลูกชาย : ฮั่นมาขอไปเรียนเองด้วยความมุ่งมั่น คราวนี้ไม่ได้ build อะไร เลยโอเค
3) ลักษณะนิสัยของลูก ข้อนี้ส่วนใหญ่จะมาควบคู่กับความพร้อมทางจิตใจ ลูกชอบเล่นต่อสู้ก็จะสนใจการเรียนที่ได้ต่อสู้หรือกีฬาบู๋ๆ ลูกชอบร้องเพลงเต้นรำก็จะแฮปปี้เมื่อได้ทำที่ชอบ แล้วถ้าลูกเป็นคนเงียบเก็บตัว กลัวคนแปลกหน้าล่ะ งอแง แล้วจะทำไง ก็คงต้องเลือกวิธีการสอนที่เหมาะกับลูกเราเพื่อให้เค้าสบายใจและมีความสุขกับการเรียน
ส่วนจะเลือกเรียนอะไรดี มีแนวคิดหลายอย่างค่ะ
- หลายบ้านเอาลูกไปเรียนเพิ่มเติมเพื่อเปลี่ยนแปลงนิสัยลูก เช่น เอาลูกไปเรียนร้องเพลงเต้นรำ เพราะลูกขี้อาย จะได้กล้าแสดงออก ตัวเราก็เป็นเช่นกัน ที่ส่งฮั่นไปเรียนเพราะอยากให้ฮั่นรู้จักปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเยอะๆ
- หลายบ้านเอาลูกไปเรียนเพิ่มเติม เพื่อเอาพลังที่เหลือล้น (หรือซนหรือไฮเปอร์) ไปใช้กับอย่างอื่นให้เป็นประโยชน์ ดีกว่าเล่นไร้สาระอยู่ที่บ้าน
- หลายบ้านเห็นว่าลูกเป็นพวกติดเพื่อน พอเห็นเพื่อนเรียนก็เลยอยากเรียนตาม ไม่ได้เสียหายอะไร
- หลายบ้านคิดว่า ลูกเป็นพวกขี้กลัว หรือจะไม่ชอบอะไรถ้าไม่ได้ลองก่อน เลยหาอะไรให้ลองเยอะๆ
ในฐานะของพ่อแม่มีหน้าที่ในการเปิดโอกาสให้ลูกได้ทดลอง เมื่อลูกชอบ และทำได้ (ยังไม่ต้องถึงกับทำได้ดี) เจตจำนงค์ในการเรียนรู้ก็จะเริ่มมา แต่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่เข้าใจธรรมชาติของลูกตัวเองด้วย
>วิเคราะห์คุณลูกชาย : ฮั่นที่เป็นเด็ก ชอบเล่นคนเดียว หรือไม่ก็เล่นกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆมากกว่ากลุ่มใหญ่ เป็นคนไม่ชอบเล่นปะทะ หรืออะไรเจ็บๆ แต่เพราะแม่มันอยากให้ลูกได้เข้าสังคม มีกลุ่มเพื่อนบ้างไรบ้าง
4) ลักษณะการเรียน การสอน และตัวครู วิธีการเรียนการสอนก็สำคัญมากเลย เพราะมันบอกได้เกิน 80%เลยว่า พ่อแม่ (เรื่องมากอย่างเรา) จะยอมส่งลูกมาเรียนดีหรือไม่ เอาปัจจัยข้อ 1-3 มาประกอบว่า ลูกเราเข้ากับวิธีนี้ได้มั้ย ครูคุมนักเรียนและห้องเรียนได้มั้ย เคยไปทดลองเรียนดนตรี วิธีการสอนเค้าไม่ผิดอะไร แต่ไม่เข้ากับลูกของเราที่นั่งไม่นิ่ง ไม่เคยจดจ่อหรือสนุกกับการอ่านโน้ต ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเค้ายังไม่โตพอที่มีสมาธิ (อย่าคิดว่าลูกในวัยเดียวกันจะเหมือนกันนะคะ อย่าเทียบลูกเรากับลูกคนอื่น ว่าลูกเพื่อนอายุเท่ากันทำไมถึงเรียนได้) เมื่อมันไม่ match
ส่วนตัว จะดูโหง้วเฮงครูด้วย ว่าถูกโฉลกหรือเปล่า ครูบางคน Ego สูง ไม่ชอบให้พ่อแม่เด็กไปยุ่งหรือ comment กับระบบของตัวเอง ถ้าเจอครูแบบนี้ แนะนำว่า อย่าไปเรียนด้วยตั้งแต่ต้น เพราะคุณจะไม่ได้การเรียนการสอนที่เหมาะกับลูกคุณ แต่ในส่วนของในเวลาเรียน พ่อแม่ก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงครูในห้องเรียนอยู่แล้ว แต่พออยู่นอกห้อง ก็ควรจะสามารถคุยกับครูเพื่อเพิ่มลดปรับกระบวนการสอนได้บ้าง อย่างที่บอกว่า เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน และเด็กก็ไม่ได้เป็นทหาร ครูต้องมีลูกล้อลูกชนเพื่อให้เด็กเข้ามาอยู่ในกรอบเดียวกัน แต่จะปฏิบัติกับเด็กทุกคนแล้ว
> วิเคราะห์คลาสสอนฟุตบอล : เป็นคลาสใหญ่ เด็กเยอะ ส่วนตัวครู ไม่ได้ลงไปดูเพราะครูไม่ได้ one on one และเพราะคาดหวังให้ลูกแค่ออกกำลังกาย เลยไม่ได้ดูรายละเอียดมากมาย
5) ความพร้อมของพ่อแม่ จิตใจและร่างกายของพ่อแม่ก็สำคัญค่ะ เช่น การไปรับไปส่ง สถานที่เรียน เวลาเรียน ค่าเรียนแพง เป็นต้น เคยที่มีทะเลาะกับ Hubby เพราะพ่อมันช้า ขับรถไปส่งลูกเรียนไม่ทันบ้าง พ่อมันก็อารมณ์เสีย วันหยุดทำไมฉันต้องตื่นเช้าขับรถไกลขนาดนี้ด้วย พ่อแม่ไม่พร้อม โอกาสจะเรียนได้ดีได้รอดก็น้อยค่ะ เพราะฉะนั้น มองกลับมาที่ตัวเองด้วยนะคะว่าโอเคมั้ย เรื่องเวลาของพ่อแม่ไว้มาคุยกันคราวหน้า หากมีตัวช่วย เช่น คุณตาคุณยายช่วยดูแลรับส่งให้ได้ในเวลาที่ติดธุระจริง ก็จะดีค่ะ
ในเมื่อเรายังไม่จ่ายค่าเรียน เราก็ยังเป็นต่อค่ะ request สิ่งที่ควรจะได้ตามสิทธิของลูกค้าก่อนจ่ายเงินเสมอ ถึงแม้จะไม่ได้อย่างที่ต้องการทุกอย่าง แต่ก็ให้ทางโรงเรียนหรือคุณครูรู้และเข้าใจสภาพของลูกเราค่ะ
นอกจากนี้ ต้องเตรียมทำใจกับเรื่องต่างๆ ที่ควบคุมไม่ได้ เช่น เพื่อนร่วมชั้นของลูกขี้แกล้ง งานด่วน ลูกงอแง
> วิเคราะห์พ่อแม่: พ่อมันไปรับไปส่งได้ ไม่หงุดหงิดเวลานั่งคอยลูกเพราะมีพ่อๆคนอื่นมาเป็นเพื่อนคอยด้วย แม่มันเป็น sponsor จบ
คราวหน้ามาดูกันว่า ขนาดวิเคราะห์ความเป็นไปได้มาอย่างดี แล้วลูกมันไม่เอาจริงๆ พ่อแม่จะเตรียมรับมือยังไง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น