วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2558

Review หนังสือ พูดกับลูกสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น 66 ถ้อยคำทำร้ายลูกที่คุณอาจไม่รู้

Review หนังสือ พูดกับลูกสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น 66 ถ้อยคำทำร้ายลูกที่คุณอาจไม่รู้



ตั้งแต่ฮั่นเริ่มขึ้นป.1 เริ่มต้องเข้าสู่ชีวิตเรียนที่จริงจัง (กว่าอนุบาล) ต้องไปโรงเรียนเช้าขึ้น เรียนหนังสือมีการบ้าน และงานที่ต้องทำมากขึ้น งานเข้าสิค่ะ กว่าจะดันคุณลูกให้ไปเรียนตามเวลา หรือทำการบ้านให้เสร็จ คุณแม่อย่างเราก็ต้องงัดกระบวนท่าหลายเล่มเกวียนมากระตุ้น เอาใจ ชักชวน เชิญชวน หลอกล่อ หนักเข้าก็เริ่มมีตักเตือน เหน็บ ขู่ และดุว่าในบางครั้ง เหนื่อยและหนักใจจริงๆ เครียดกันทั้งแม่ทั้งลูก หลายครั้งที่ลูกกับแม่ก็เสียน้ำตาเพราะคำพูดที่เราเผลอผลั้งปากออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือกดดันลูกโดยไม่รู้ตัว

เมื่อหยุดพักรบ แล้วได้หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน ก็เริ่มได้เข้าใจว่า ทำไมคำพูดที่เราอยากจะสอนหรือพูดด้วยความรักกับความหวังดี กลับทำให้ลูกหน้าจ๋อย หรือโมโห หรือบางครั้งกลับมีน้ำตา ใครจะไปนึกว่า การที่พูดว่า "ถ้าคิดจะทำ..ลูกต้องทำได้แน่ๆ " จะเป็นการกดดันลูก และอาจจะส่งผลให้ลูกปฏิเสธไม่ทำสิ่งนั้นไปตลอดชีวิต และสุดท้ายเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะกลายเป็นคนที่ไม่กล้าทำอะไรเลย

ไม่ต่างอะไรกับผู้ใหญ่เลยค่ะ ที่หากมีคนมาพูดตักเตือน หรือวิจารณ์เราว่าเป็นยังไง เพื่อให้เราได้ปรับปรุงหรือพัฒนา แต่ใช้คำพูดที่ลบๆ หรือพูดแบบคาดหวังมากไป ก็ทำให้เราคิดได้สองแง่สองง่ามว่า นี่เขาด่า เปรียบเทียบเราอยู่ได้ หรือประชดเราหรือเปล่า ผู้ใหญ่เองยังคิดไปมากมาย แล้วเด็กๆจะรู้สึกยังไงค่ะ โดยเฉพาะคำพูดนั้นๆออกมาจากปากของคนที่เด็กๆรักมากมาย อย่างคุณแม่และคุณพ่อ

มันเป็นหน้าที่ของพ่อแม่และผู้ใหญ่จริงค่ะที่ต้องระมัดระวังคำพูดที่พูดให้เด็กๆฟัง ทำอย่างไรให้เขาเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่อยากจะสื่อสารจริงๆ โดยไม่ทำให้ลูกกลายเป็นคนขาดความมั่นใจในตัวเอง  ไม่นานเชื่อว่า พ่อแม่ต่างเชื้อชาติกัน ก็พูดกับลูกคล้ายๆกันเวลาไม่สบอารมณ์ อ่านแล้วก็พอจะนึกภาพของแม่ญี่ปุ่น เปลี่ยนจากคุณแม่ที่อ่อนโยน กลายมาเป็นแม่นางยักษ์ อย่างแม่ของโนบิตะ ส่วนหนึ่งผู้เขียนบอกว่า คนญี่ปุ่นเป็นคนเก่ง แต่สาเหตุที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง เป็นเพราะการอบรมสั่งสอนในบ้านนั้นเอง คิดแล้วก็จริงนะ ตอนอยู่ญี่ปุ่น เราเห็นได้ชัดเลยว่า คนญี่ปุ่นไม่ค่อยมั่นใจที่จะแสดงออก หรือแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ทำอะไรก็เขินๆ เงียบๆหงึมๆ ทั้งที่ตัวเองมีความคิดที่ดีมากๆ เพิ่งเข้าใจว่า ที่เขาเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับเด็กๆในบ้านเราที่ถูกพูดดักไม่ให้ทำนั่น ไม่ควรทำนี้ อะไรที่แปลกๆกว่าคนอื่นอย่างทำให้มันเด่นเกินไป อารมณ์ประมาณเดียวกันเลย

หนังสือให้มุมมองของเด็กๆว่าคิดอย่างไง ยกตัวอย่างให้เห็นว่าเพราะอะไรจึงไม่ชอบใจกับคำพูดของพ่อแม่ พร้อมแนะนำคำพูดที่ควรจะใช้ ผ่าน 7 บทที่แบ่งตามถ้อยคำที่สร้างความรู้สึกไม่มั่นใจลูกในแต่ละด้านเช่น บทที่ 1 "ความมั่นใจในตนเองมาจากการที่ลูกรับรู้ได้ว่าเขาคือ 'คนสำคัญ' "  ถ้อยคำในบทจะเป็นประเภทว่าลูกไม่ดี โง่ ทำตัวไม่สมเป็นลูกผู้ชาย ฯลฯ  และเมื่อจบบท จะมี "สรุปท้ายบท" รวบยอดสาเหตุที่ไม่ควรพูดถ้อยคำพูดเหล่านั้น และข้อแนะนำว่าควรทำอย่างไรให้ดีขึ้น

หนังสืออ่านง่ายมากค่ะ สั้นๆได้ใจความอธิบายแต่ละถ้อยคำ อยู่ภายใน 2 หน้า ส่วนอธิบายบอกเล่าสาเหตุง่ายๆว่าทำไมคำพูดนั้นถึงไม่ควรใช้กับลูก มีผลกระทบอย่างไรโดยเฉพาะเรื่องของความมั่นใจของลูก และพฤติกรรมที่อาจจะติดตัวลูกไปจนโต   มุมเล็กด้านซ้ายมือมี "ระดับที่ต้องระวังการใช้คำพูด"อยู่ ยิ่งดาวเยอะยิ่งต้องระมัดระวัง มีภาพการ์ตูนน่ารักๆ ตลกร้ายตามมุขสไตล์ญี่ปุ่น บอกเราว่า รูปแรก เด็กๆรู้สึกอย่างไรกับคำพูดของเรา รูปที่สอง เป็นรูปจำลองเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคำพูดนั้น  และปิดท้ายด้วย กล่องไฮไลท์สีเขียวที่แนะนำให้พ่อแม่ "ลองเปลี่ยนมาพูดแบบนี้กันดีกว่า" 





ส่วนตัวแล้ว อ่านมา 6 บทแรก รู้สึกว่าโล่งใจที่ตัวเองไม่ค่อยใช้คำพูดลบๆกับลูกเท่าไร มีโดนบ้าง ในบทที่ 4 เช่น "รีบทำการบ้านเร็วๆ เข้า"  "กินแค่นี้เองเหรอ"  กับ "พูดขอโทษเดี๋ยวนี้นะ" ระดับที่ต้องระวังการใช้คำพูดอยู่ประมาณ 2-3 จาก 5 แต่พอมาอ่านบทสุดท้าย "บทที่ 7 ความตั้งใจของลูกที่จะ "รับผิดชอบชีวิตตนเอง" จะช่วยผลักดันให้เกิดความมั่นใจ" บทนี้โดนกับตัวจังๆ อย่างที่เขียนไปตอนแรกว่าใครจะไปนึกว่า คำพูดเชิงบวก เชิงกระตุ้น ก็มีด้านที่ทำลายจิตใจหรือสร้างปมให้กับลูก ซึ่งที่จริงแล้วเราสามารถใช้คำพูดอื่นที่ดีกว่า หรือบางครั้งไม่ต้องพูดคำนั้นออกไปเลยจะดีกว่า ต้องหัดรอคอยให้ลูกได้แสดงความรับผิดชอบออกมาด้วยตัวเอง และไปพูดชื่นชมลูกตอนนั้น ลูกจะภูมิใจและมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำมากขึ้น เป็นรากฐานที่ดีต่อไปในการกล้าคิด การแสดงออก และรับผิดชอบกับตนเอง โดยที่เขารู้ด้วยว่าที่พ่อแม่ทำไปเพราะว่ารักและหวังดี  

ที่สำคัญ ต้องรีบเอาไปปฏิบัตโดยด่วน จะได้หมดปัญหาสงครามโมโหและเสียน้ำตาระหว่างแม่กับลูกซักกะที  ^^ 


ข้อมูลหนังสือ
หนังสือ พูดกับลูกสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น 66 ถ้อยคำทำร้ายลูกที่คุณอาจไม่รู้

ママ、言わないで!子どもが自信を失う言葉66

ผู้เขียน เทรุโกะ โซดะ
ผู้แปล ภาวิณี ตั้งสถาพรพงษ์
credit รูปปก จาก สำนักพิมพ์ Sand Clock

สนใจหนังสือ ดูได้ที่ http://www.toyforbrain.com/p/275
ฉบับภาษาญี่ปุ่น http://shopping.yahoo.co.jp/product/bb70284007de3d6a0bc0c05c079a0caa/compare.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น