วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

Review หนังสือ โรงเรียนพ่อแม่ ตอน ผลัดใบชีวิต ของครูณา

Review หนังสือ โรงเรียนพ่อแม่ ตอน ผลัดใบชีวิต ของครูณา (อังคณา มาศรังสรรค์) พิมพ์ครั้งที่ 4 (ฉบับปรับปรุงใหม่) 


หลายครั้งที่รู้สึกว่ายังทำหน้าที่ของแม่ไม่ดีพอ เผลอปล่อยอารมณ์หรือเกรี้ยวกราดกับลูก บางครั้งก็ทำตัวไม่น่ารักกับสามี ทั้งที่พื้นฐานตัวเองไม่ใช่เป็นคนเหวี่ยงวีน เมื่อรู้สึกตัวภายหลังก็เสียใจ และอยากที่จะย้อนเวลานั้นกลับไปหยุดการกระทำของตัวเองไว้ อยากแก้ไข และตั้งใจใหม่ว่าจะไม่เกิดซ้ำ 

เมื่อโดนกระทบใจเรื่องนี้ที่ไร จุ๊บมักจะนึกถึงคำของพระไพศาล วิสาโล "ต้นไม้ยังผลัดใบได้ฉันใด ชีวิตก็สามารถสลัดความเจ็บปวดและความผิดพลาดในอดีตได้ฉันนั้น" ซึ่งเป็นคำนิยมบนหนังสือผลัดใบชีวิตของครูณา และคิดถึงข้อคิดคำสอนดีๆของครูณาในหนังสือ และจากที่เคยไปอบรมกับครู จนต้องหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเพื่อเตือนสติของตนเอง ทบทวนให้ใช้ชีวิตและคิดช้าลง และที่สำคัญเพื่อเพิ่มพลังบวกในการดำเนินชีวิตกับคนรอบข้างอย่างมีสติ 

หากไม่เคยอ่านหนังสือของครูณามาก่อนจะรู้จักกับครู จุ๊บคงไม่เชื่อว่า ครูจะเคยเกรี้ยวกราดดุด่ากับลูก หรือแม้กระทั่งรำคาญและมองข้ามความรักและเอาใจใส่สามีได้เลย อะไรทำให้คุณแม่ลูกสอง หญิงเก่งและแกร่งที่ประสบความสำเร็จด้านการงาน จากวิศวกรปริญญาโทมาเป็นผู้บริหารโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในนครสวรรค์ แต่ไม่สามารถจัดการปัญหาครอบครัวได้จนเกือบหย่าร้างกับสามี กลายมาเป็นครูณาที่แสนอบอุ่นเต็มไปด้วยพลังบวก ผู้ก่อตั้งโรงเรียนพ่อแม่ลูก และมูลนิธิพื้นที่ปัญญ์รักที่มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กและครอบครัว อยากรู้มั้ยค่ะว่าครูทำได้อย่างไร 

หนังสือถ่ายทอดข้อคิดและวิถีในการย้อนกลับมามีสติตื่นรู้กับทุกความสัมพันธ์กับลูก ครอบครัว และคนรอบข้าง ผ่านเรื่องราวจากชีวิตที่เปลี่ยนแปลงภายในของครูณา ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้และเยียวยาตนเอง จนเข้าใจและยอมรับกับข้อบกพร่องของตนเอง ได้เรียนรู้ที่จะให้อภัยและเปลี่ยนมุมมองทัศนคติ จนครูสามารถพลิกวิกฤตครอบครัวกลับมาได้ และได้กลับไปแก้ไขปมหรือหลุมดำในชีวิตที่มีกับคุณพ่อให้คลี่คลาย คืนความอบอุ่นกลับมาสู่ครอบครัว จนสามารถเผยแพร่ความรักให้กับเด็กๆและครอบครัวต่างๆได้ 

ข้อคิดดีๆ จากหนังสือ "ชีวิตของเรามีพื้นที่ขาวมากกว่าจุดดำ แต่ใจเราต่างหาก ที่เฝ้ามองแต่จุดดำ จนทำให้โลกทั้งใบของเราดำไปหมด" "ยิ่งแสวงหาความสมบูรณ์แบบ ชีวิตเรายิ่งพร่อง ยิ่งเราพอใจในชีวิตที่มีและเป็น ชีวิตเรากลับเต็ม" ส่วนที่ประทับใจที่สุดในหนังสือคงไม่พ้นเรื่องการเลี้ยงลูกค่ะ ครูณายังถ่ายทอดแนวคิดการเลี้ยงลูกด้วยจิตตื่นรู้ มีสติ ไม่ด่วนตัดสินลูก เปิดใจรับฟังลูกด้วยใจ เปิดโอกาสและพื้นที่ให้ลูกคิดและเรียนรู้ 

ครูณาเป็นอีกคนค่ะที่ให้ทำโฮมสคูลให้ลูกแบบ unschooling คือไม่สอน ไม่สั่ง แต่ส่งเสริมลูกในสิ่งที่อยากรู้และอยากเรียน และยังมีเรื่องต่างๆที่สะกิดใจพ่อแม่ให้ย้อนคิด และมีสติกับลูกในปัจจุบัน ทำให้พ่อแม่มีความสงบสุขและมั่นคงกับการเลี้ยงลูก เพราะไม่มีใครที่เป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบ แม้ผิดพลั่งพลาดมาเริ่มใหม่ เพราะเราสามารถเป็นพ่อแม่ที่สร้างความสุขและร่มเย็นให้กับลูกได้อย่างแน่นอนค่ะ 

แม่จุ๊บ 

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คุยกับลูกเรื่องความรู้สึกแบบง่ายๆ ผ่าน Inside Out

"ตัวแดงมามี้กำลังจะระเบิดละน่ะ รีบๆอาบน้ำเร็ว" นี่เป็นบทสนทนาที่จริงจัง แกมขำ แต่ได้ผลดีจริง ไม่ทำให้ลูกงอแง แต่ทำตามแม่บอก อย่างขำๆ ส่วนอีแม่ก็ไม่ต้องโมโหที่ลูกอืดอาด บรรยากาศในบ้านมันเปลี่ยนไป เมื่อแม่ลูกคุยและบอกความรู้สึกตรงๆกันมากขึ้น หลังจากได้ดู Inside Out 

เพิ่งได้มีโอกาสได้ดูนั่งดู Inside Out กับลูกๆ หลังจากเห็นคำชื่นชมเกี่ยวกับหนังจากบรรดาเพื่อนๆ และสื่อต่างๆ พอเคลียร์งานได้ว่างๆ คืนนั้น อยู่กันสามคนแม่ลูก (ปะป๊าไปงานแต่งเพื่อน) แม่ลูกช่วยกันจัดบนเตียงเป็น super honeymoon seat เอาโน้ตบุ๊คปะป๊ามาเปิดดู (ห้องนอนไม่มีทีวี) แล้วสามแม่ลูกก็เพลิดเพลินไปกับ movie of the night!!


หนังสนุก เด็กๆหัวเราะตลอดเรื่อง ขนาดธันธันยังขำใหญ่เลย เข้าใจเรื่องหรือเปล่าไม่รู้ หนังเดินเรื่องผ่านอารมณ์และความรู้สึกทั้ง 6 ในหัวของไรลีย์ สาวน้อยแสนร่าเริงวัย 11ปี ที่มีจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ต้องย้ายบ้านข้ามรัฐกันเลย จากมินิโซต้าเมืองหิมะเล่นฮอคกี้ได้หลังบ้าน มาอยู่เมืองร้อนบ้านเล็กที่ซานฟรานซิโก ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ทำให้สาวน้อยเปลี่ยนไป ความรู้สึกทั้ง 6 ก็ปั่นป่วนไปด้วย จะทำอย่างไรให้สาวน้อยไรลีย์กลับมามีความสุข เป็นเด็กร่าเริงสดใสเหมือนดังเดิม 

คนทำหนังเก่งมากที่สามารถแปลงนามธรรมอย่าง อารมณ์ความรู้สึก ถ่ายทอดออกมาเป็น 6 ตัวการ์ตูน ผ่านสี รูปร่าง บุคลิก และอุปนิสัย 
Joy หรือลั้นลา  เธอเป็นสีเหลือง ร่าเริง กล้าหาญ เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง และความสุข จนบ้างครั้งละเลยเหตุผล
 Sadness หรือเศร้าโศก ตัวอ้วนเตี้ย ตัวสีฟ้า blue ไม่มีแรง หน้าโศกมาก แต่มีความมีเหตุผล ไม่ด่วนใจร้อนตรงข้ามกับ joy อย่างสิ้นเชิง
Fear หรือ กลั้วกลัว ตัวสีม่วง ตาโตตัวลีบ ลุกล้น ตื่นตะหนกตกตื่นตลอดเวลา ถึงจะกลัวโน้นนี้ แต่กลั้วกลัวคอยระมัดระวัง ใส่ใจรอบด้านเพื่อความปลอดภัยของตัวเรา
Disgust หรือ หยะแหยง ชีเลิศขนตายาว ตัวเขียว เนี้ยบทุกกระเบียดนิ้ว คอยพิจารณาว่าอะไรดีอะไรเหมาะกับไรลีย์ทั้งร่างกายและสังคม 
Anger หรือโกร้ธโกรธ ตัวสีแดง ร่างเล็กๆแต่หน้าโหด นักเลงมาก เมื่อโกรธจัดหัวไฟลุก นอกจากที่จะแสดงความโมโหโกธา โกร้ธโกรธเป็นตัวแทนความรักความเป็นธรรม รักษาสิทธิ์ของตน


หนังยังทำให้เด็กๆและผู้ใหญ่อย่างเราเข้าใจการทำงานของสมอง เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความทรงจำ พฤติกรรมและอุปนิสัยของคนเรา ว่าทำไมหรือจากเหตุการณ์ใดในชีวิตทำให้เรามีนิสัยใจคอแบบในปัจจุบันดี  เออ จะบอกว่ามันยากมากที่จะอธิบายเรื่องพวกนี้ให้ผู้ใหญ่เข้าใจได้ แต่ดูหนังเรื่องนี้จบเลย เห็นความเชื่องโยงเป็นรูปธรรมแบบปอกกล้วยเข้าปากสุดๆ

หนังใช้สัญลักษณ์รูปแทนส่วนลึกในสมองของเราได้น่ารัก เข้าใจง่าย ความรู้สึกผ่านความทรงจำในแต่ละวันกลายเป็นลูกแก้วกลมมีสีสันตามที่เรารู้สึก ถูกจัดเก็บไว้ในโซนความทรงจำระยะยาว หากเหตุการณ์ไหนสำคัญ จะถูกเปลี่ยนเป็นความทรงจำหลัก ความทรงจำหลักจะส่งผลให้เกิดอุปนิสัยพื้นฐานของเรา ใช้เป็นเกาะต่างๆ แทนนิสัยของเรา island of personality ภายในเกาะจะสะสมสิ่งที่อยู่ในความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องนั้น ยังมีหลายๆส่วนในสมองที่หนังตีความออกมาเป็นการ์ตูนได้อย่างน่ารัก น่าชัง (มีเสียดสีบางส่วน) ฮั่นชอบตอนที่ศูนย์สั่งการกลายเป็นน้ำแข็งไปหมด เพราะไรลีย์ดูดน้ำแข็งเร็วเกินจนจี๊ดขึ้นหัว

หนังจบแล้ว ถามฮั่นว่าดูแล้วเข้าใจมั้ยเนี่ย ฮั่นหัวเราะบอกขำตัวแดงมาก แล้วก็คุยแต่ตอนที่ตัวแดงโกรธว่ามันฮาขนาดไหน ธันก็พูดตาม ขำตาม จาก feedback ลูก ลองถามหลานสาววัย ป.3 เขาบอกว่า มันเกี่ยวกับสมอง ความโกรธ แต่ไม่ได้อธิบายอะไรได้มากมาย บอกได้ว่า ในตัวหนูมีตัวนี้ตัวโน้นอยู่ เราจึงเข้าใจว่า เด็กๆไม่ได้เข้าใจอะไรลึกซึ้งเกี่ยวกับความเชื่อมโยงต่างๆ มากอย่างที่เราเขียนเอ่ยมาข้างต้น  เด็กได้มีประสบการณ์ที่สนุกกับหนังอีกเรื่องที่แปลกๆดี ที่ไม่มีพระเอก นางเอก ตัวร้าย ฉากต่อสู้ หรือลุ้นตื่นเต้นมากมาย สิ่งที่ได้นอกเหนือจากความสนุกของหนัง เด็กๆ ได้เห็นและเข้าใจความกลัว ความโกรธ ความหยะแหยง ความเศร้าหรือความสุขภายในตัวของเด็กๆเอง เป็นตัวเป็นตนอย่างชัดเจน มันทำให้หลังจบจากหนัง ต้องหาเรื่องต่อยอดจากหนังต่อ

เราเริ่มใช้ตัวแสดง หรือสิ่งต่างๆจาก inside out มาประกอบคำถาม คำอธิบายหรือบทสนทนาให้ฮั่นเข้าใจมากขึ้นถึงความรู้สึกของตัวเอง หรือของพ่อแม่ เช่น เวลาฮั่นโกรธธันธันมาก แทนที่เราจะถามฮั่นว่าโกรธมากใช่มั้ย เราจะคุยกับฮั่นแบบขำว่า ตัวแดงทำงานอยู่ใช่มั้ย ฮั่นก็จะแอบขำลืมโกรธไปแป๊บ ช่วยลดอารมณ์ที่เดือดกับน้องได้ระดับ และคิดว่า ฮั่นคงจะนึกได้ว่า เมื่อ anger นำทีมทีไร เรื่องแย่ๆมักจะเกิดขึ้นทุกที  

เวลาฮั่นโกรธปนเสียใจหลังจากน้องมาทำลายผลงานต่อเลโก้ ฮั่นร้องไห้ เราจะคุยกันถึงตัวสีฟ้า โศกเศร้า ที่ร้องไห้แล้วจะรู้สึกดีขึ้น ไม่น่าเกลียดอะไรที่เด็กผู้ชายจะร้องไห้ 

หรือเวลาที่ฮั่นโอ้เอ้ ให้แม่รอนาน เราก็จะบอกฮั่นว่า ตัวแดงมามี้จะระเบิดแล้วนะ ฮั่นก็เข้าใจว่าแม่เริ่มโกรธ แบบตลกๆขำๆกันทั้งคู่
 
แอบแซวฮั่นว่า ความทรงจำของฮั่นไม่มีสระอิ สระอี ใช่มั้ย เลยลืมประจำเลย ฮั่นพยักหน้าบอก ใช่ แล้วได้แต่หัวเราะ ฮั่นตอบกลับว่า ฉันเพิ่งโยนความจำเนื่อง สระอา ทิ้งไปเหมือนกัน  555 

วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2558

Review หนังสือ พูดกับลูกสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น 66 ถ้อยคำทำร้ายลูกที่คุณอาจไม่รู้

Review หนังสือ พูดกับลูกสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น 66 ถ้อยคำทำร้ายลูกที่คุณอาจไม่รู้



ตั้งแต่ฮั่นเริ่มขึ้นป.1 เริ่มต้องเข้าสู่ชีวิตเรียนที่จริงจัง (กว่าอนุบาล) ต้องไปโรงเรียนเช้าขึ้น เรียนหนังสือมีการบ้าน และงานที่ต้องทำมากขึ้น งานเข้าสิค่ะ กว่าจะดันคุณลูกให้ไปเรียนตามเวลา หรือทำการบ้านให้เสร็จ คุณแม่อย่างเราก็ต้องงัดกระบวนท่าหลายเล่มเกวียนมากระตุ้น เอาใจ ชักชวน เชิญชวน หลอกล่อ หนักเข้าก็เริ่มมีตักเตือน เหน็บ ขู่ และดุว่าในบางครั้ง เหนื่อยและหนักใจจริงๆ เครียดกันทั้งแม่ทั้งลูก หลายครั้งที่ลูกกับแม่ก็เสียน้ำตาเพราะคำพูดที่เราเผลอผลั้งปากออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือกดดันลูกโดยไม่รู้ตัว

เมื่อหยุดพักรบ แล้วได้หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน ก็เริ่มได้เข้าใจว่า ทำไมคำพูดที่เราอยากจะสอนหรือพูดด้วยความรักกับความหวังดี กลับทำให้ลูกหน้าจ๋อย หรือโมโห หรือบางครั้งกลับมีน้ำตา ใครจะไปนึกว่า การที่พูดว่า "ถ้าคิดจะทำ..ลูกต้องทำได้แน่ๆ " จะเป็นการกดดันลูก และอาจจะส่งผลให้ลูกปฏิเสธไม่ทำสิ่งนั้นไปตลอดชีวิต และสุดท้ายเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะกลายเป็นคนที่ไม่กล้าทำอะไรเลย

ไม่ต่างอะไรกับผู้ใหญ่เลยค่ะ ที่หากมีคนมาพูดตักเตือน หรือวิจารณ์เราว่าเป็นยังไง เพื่อให้เราได้ปรับปรุงหรือพัฒนา แต่ใช้คำพูดที่ลบๆ หรือพูดแบบคาดหวังมากไป ก็ทำให้เราคิดได้สองแง่สองง่ามว่า นี่เขาด่า เปรียบเทียบเราอยู่ได้ หรือประชดเราหรือเปล่า ผู้ใหญ่เองยังคิดไปมากมาย แล้วเด็กๆจะรู้สึกยังไงค่ะ โดยเฉพาะคำพูดนั้นๆออกมาจากปากของคนที่เด็กๆรักมากมาย อย่างคุณแม่และคุณพ่อ

มันเป็นหน้าที่ของพ่อแม่และผู้ใหญ่จริงค่ะที่ต้องระมัดระวังคำพูดที่พูดให้เด็กๆฟัง ทำอย่างไรให้เขาเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่อยากจะสื่อสารจริงๆ โดยไม่ทำให้ลูกกลายเป็นคนขาดความมั่นใจในตัวเอง  ไม่นานเชื่อว่า พ่อแม่ต่างเชื้อชาติกัน ก็พูดกับลูกคล้ายๆกันเวลาไม่สบอารมณ์ อ่านแล้วก็พอจะนึกภาพของแม่ญี่ปุ่น เปลี่ยนจากคุณแม่ที่อ่อนโยน กลายมาเป็นแม่นางยักษ์ อย่างแม่ของโนบิตะ ส่วนหนึ่งผู้เขียนบอกว่า คนญี่ปุ่นเป็นคนเก่ง แต่สาเหตุที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง เป็นเพราะการอบรมสั่งสอนในบ้านนั้นเอง คิดแล้วก็จริงนะ ตอนอยู่ญี่ปุ่น เราเห็นได้ชัดเลยว่า คนญี่ปุ่นไม่ค่อยมั่นใจที่จะแสดงออก หรือแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ทำอะไรก็เขินๆ เงียบๆหงึมๆ ทั้งที่ตัวเองมีความคิดที่ดีมากๆ เพิ่งเข้าใจว่า ที่เขาเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับเด็กๆในบ้านเราที่ถูกพูดดักไม่ให้ทำนั่น ไม่ควรทำนี้ อะไรที่แปลกๆกว่าคนอื่นอย่างทำให้มันเด่นเกินไป อารมณ์ประมาณเดียวกันเลย

หนังสือให้มุมมองของเด็กๆว่าคิดอย่างไง ยกตัวอย่างให้เห็นว่าเพราะอะไรจึงไม่ชอบใจกับคำพูดของพ่อแม่ พร้อมแนะนำคำพูดที่ควรจะใช้ ผ่าน 7 บทที่แบ่งตามถ้อยคำที่สร้างความรู้สึกไม่มั่นใจลูกในแต่ละด้านเช่น บทที่ 1 "ความมั่นใจในตนเองมาจากการที่ลูกรับรู้ได้ว่าเขาคือ 'คนสำคัญ' "  ถ้อยคำในบทจะเป็นประเภทว่าลูกไม่ดี โง่ ทำตัวไม่สมเป็นลูกผู้ชาย ฯลฯ  และเมื่อจบบท จะมี "สรุปท้ายบท" รวบยอดสาเหตุที่ไม่ควรพูดถ้อยคำพูดเหล่านั้น และข้อแนะนำว่าควรทำอย่างไรให้ดีขึ้น

หนังสืออ่านง่ายมากค่ะ สั้นๆได้ใจความอธิบายแต่ละถ้อยคำ อยู่ภายใน 2 หน้า ส่วนอธิบายบอกเล่าสาเหตุง่ายๆว่าทำไมคำพูดนั้นถึงไม่ควรใช้กับลูก มีผลกระทบอย่างไรโดยเฉพาะเรื่องของความมั่นใจของลูก และพฤติกรรมที่อาจจะติดตัวลูกไปจนโต   มุมเล็กด้านซ้ายมือมี "ระดับที่ต้องระวังการใช้คำพูด"อยู่ ยิ่งดาวเยอะยิ่งต้องระมัดระวัง มีภาพการ์ตูนน่ารักๆ ตลกร้ายตามมุขสไตล์ญี่ปุ่น บอกเราว่า รูปแรก เด็กๆรู้สึกอย่างไรกับคำพูดของเรา รูปที่สอง เป็นรูปจำลองเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคำพูดนั้น  และปิดท้ายด้วย กล่องไฮไลท์สีเขียวที่แนะนำให้พ่อแม่ "ลองเปลี่ยนมาพูดแบบนี้กันดีกว่า" 





ส่วนตัวแล้ว อ่านมา 6 บทแรก รู้สึกว่าโล่งใจที่ตัวเองไม่ค่อยใช้คำพูดลบๆกับลูกเท่าไร มีโดนบ้าง ในบทที่ 4 เช่น "รีบทำการบ้านเร็วๆ เข้า"  "กินแค่นี้เองเหรอ"  กับ "พูดขอโทษเดี๋ยวนี้นะ" ระดับที่ต้องระวังการใช้คำพูดอยู่ประมาณ 2-3 จาก 5 แต่พอมาอ่านบทสุดท้าย "บทที่ 7 ความตั้งใจของลูกที่จะ "รับผิดชอบชีวิตตนเอง" จะช่วยผลักดันให้เกิดความมั่นใจ" บทนี้โดนกับตัวจังๆ อย่างที่เขียนไปตอนแรกว่าใครจะไปนึกว่า คำพูดเชิงบวก เชิงกระตุ้น ก็มีด้านที่ทำลายจิตใจหรือสร้างปมให้กับลูก ซึ่งที่จริงแล้วเราสามารถใช้คำพูดอื่นที่ดีกว่า หรือบางครั้งไม่ต้องพูดคำนั้นออกไปเลยจะดีกว่า ต้องหัดรอคอยให้ลูกได้แสดงความรับผิดชอบออกมาด้วยตัวเอง และไปพูดชื่นชมลูกตอนนั้น ลูกจะภูมิใจและมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำมากขึ้น เป็นรากฐานที่ดีต่อไปในการกล้าคิด การแสดงออก และรับผิดชอบกับตนเอง โดยที่เขารู้ด้วยว่าที่พ่อแม่ทำไปเพราะว่ารักและหวังดี  

ที่สำคัญ ต้องรีบเอาไปปฏิบัตโดยด่วน จะได้หมดปัญหาสงครามโมโหและเสียน้ำตาระหว่างแม่กับลูกซักกะที  ^^ 


ข้อมูลหนังสือ
หนังสือ พูดกับลูกสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น 66 ถ้อยคำทำร้ายลูกที่คุณอาจไม่รู้

ママ、言わないで!子どもが自信を失う言葉66

ผู้เขียน เทรุโกะ โซดะ
ผู้แปล ภาวิณี ตั้งสถาพรพงษ์
credit รูปปก จาก สำนักพิมพ์ Sand Clock

สนใจหนังสือ ดูได้ที่ http://www.toyforbrain.com/p/275
ฉบับภาษาญี่ปุ่น http://shopping.yahoo.co.jp/product/bb70284007de3d6a0bc0c05c079a0caa/compare.html