วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

วันเต่าๆ Turtle Theme

มันเริ่มจากกิจวัตรในการรดน้ำต้นไม้ที่ชั้นดาดฟ้า ทุกครั้งจะชวนธันไปเด็ดผักบุ้งที่แคระแกรนในแปลงลงไปให้เต่าที่สวน (ชั้นหนึ่ง)  ระหว่างเดินไปสวนก็ร้องเพลงเต่าให้ธันฟังไป ชวนธันดูเต่า ก็เลยคิดว่า วันนี้มาเล่นเป็นเต่ากันดีกว่า


ช่วงเช้า เอาหนังสือนิทาน เต่าเบิ้มหน้าบึ้ง มาอ่านให้ธันฟัง แบบชี้รูปและคุยแบบสั้นๆตลกๆ ธันขำและชอบ แต่ไม่จดจ่อสนใจ เพราะมั่วแต่เล่นรถในมืออีกสามคัน แม่มันทนไม่ได้ ความคิดแล่นปรู๊ด จับรถเป็นเต่าละกัน รถเล็ก รถใหญ่ ทำแม่เต่าลูกเต่าให้เล่นไปเลย แถมหมวกเต่าคาดหัวลูก กับหัวพ่อให้บรรยากาศครอบครัวเต่าหน่อย ธันสนใจทันที







สำหรับกันก็เอาตุ๊กตาเต่ามาให้ธันดู ร้องเพลงบ้าง ทำท่าเต่าบ้าง ธันเกิดคิดอะไรไม่รู้ทำท่าจะตีลังกา หรืออยากทำท่าเต่าไม่แน่ใจ


พยายามจะเล่นละครให้ธันดู แบบเอาตุ๊กตาโผล่มาจากหลังโซฟา เล่าเรื่องเต่าเบิ้มซ้ำ แต่ล่ม เพราะธันนึกว่าเล่นจ๊ะเอ๋ รีบปีนกรี๊ดกราดบนโซฟามาหาแม่ วิ่งดึงตุ๊กตาไปขว้างเล่นซะงั้น สนุกไปอีกแบบกับคุณชาย

เต่าน้อย ทำหัวผลุบๆโผล่ๆ หัวเราะมีความสุขทั้งวัน

รีวิวอ่านเพื่อลูก: 7 อุปนิสัยเด็กดีมีความสุข

7 อุปนิสัยเด็กดีมีความสุข The 7 Habits of Happy Kids


ข้อมูลหนังสือ
ผู้เขียน:  Sean Covey
ภาพ: Stacy Curtis
ผู้แปล: นิลุบล หฤทัยวิจิตรโชค
สำนักพิมพ์: Nanmeebooks Kiddy

คำนิยม (ปกหลัง)



อ่านเพลิน
ณ ดินแดนป่าโอ๊ก 7 ต้น เพื่อนๆตัวเล็กทั้ง 7  หมีกู๊บ พี่ใหญ่ของแก๊งค์ กระต่ายจัมเปอร์ สกังก์ลิลี่ กระรอกแซมมี่และโซฟีฝาแฝด เม่นโพกี้ และหนูแอลลี่ ซึ่งมีนิสัยและความคิดที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดเรื่องราวที่สนุกๆ ผ่านเหตุการณ์และปัญหาที่ต้องคิดวางแผน แก้ไข และลงมือทำ 7 เรื่อง 7 อุปนิสัยที่ดี ที่เป็นก้าวเล็กๆให้เด็กๆมีความสุข


เห็นชื่อหนังสือกับชื่อผู้เขียนแล้ว ไม่หยิบติดมือกลับบ้านมาอ่านก็แปลกมากๆแล้ว สำหรับผู้ที่เคยอ่านหรือผ่านการอบรม The 7 Habits of Highly Effective People คงเข้าใจถึงคุณสมบัติ 7 ประการสำหรับผู้ทรงประสิทธิผลยิ่ง แค่อ่านแล้วไปอธิบายให้เพื่อนๆฟังก็มีแอบยากแล้วนะ แต่สำหรับหนังสือเล่มนี้ Sean ได้ตีความหมายของ 7 Habits และปรับใช้ให้เข้าใจง่าย จับต้องได้สำหรับเด็กเล็กๆ ผ่านตัวการ์ตูนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแต่ละอุปนิสัยได้อย่างเด่นชัด เนื้อหาสนุก ตลก และถ่ายทอดความคิดความอ่านและนิสัยของเด็กๆ ได้อย่างเป๊ะมาก จนเด็กๆคิดว่าเขาเป็นตัวละครตัวใดตัวหนึ่งในเรื่อง อ่านให้เด็กฟัง เด็กชอบแน่นอน และได้ซึมซับลักษณะนิสัยที่ดีของตัวละครในแต่ละตอนไปอย่างไม่รู้ตัว


หนังสือยังเปิดโอกาสให้พ่อแม่ ผู้ปกครองได้ต่อยอดความสนุกสนานของนิทาน  โดยหลังจบแต่ละเรื่องจะมี "มุมผู้ปกครอง" ซึ่ง Sean เขียนอธิบายอุปนิสัยประจำเรื่องแบบง่ายๆ ผ่านประสบการณ์ของลูกกับเขาเองบ้าง บอกเล่าประโยชน์และแนวคิดเชื่อมโยงกับ 7 Habits  นอกจากนี้ ยังมีแนะนำ "หัวข้อสำหรับสนทนา" และ "ก้าวเล็กๆ" เพื่อชวนลูกคิด ชวนคุยและนำพาก้าวเล็กๆเพื่อให้ลูกได้ลองนำอุปนิสัยหรือการกระทำต่างๆมาลองทำดู


ท้ายเล่มมีภาพสรุปอุปนิสัยทั้ง 7 ผ่านต้นไม้ของ 7 อุปนิสัย
อุปนิสัยที่ 1 Be Proactive  => เป็นหน้าที่ของเธอ
อุปนิสัยที่ 2 Begin with the End in Mind => มีเป้าหมายและแผนเสมอ
อุปนิสัยที่ 3 Put First Things First => ทำสิ่งสำคัญก่อนแล้วจึงเล่น
อุปนิสัยที่ 4 Think Win-Win => ทุกคนชนะได้เมื่อคิดแบบ Win-win
อุปนิสัยที่ 5 Seek First to Understand, Then to be Understood =>ฟังก่อนที่จะพูด ฟังด้วยหัวใจและตา
อุปนิสัยที่ 6 Synergize  => รวมกันย่อมดีกว่า
อุปนิสัยที่ 7 Sharpen the Saw => ใช้ชีวิตอย่างมีสมดุล ฝึกฝนและพัฒนาตนเองเสมอ


ตอนแรก ฮั่นเห็นหน้าปกแล้วไม่สนใจ จะให้เล่า "นางสาวโต๊ะโตะ" ซึ่งเป็นเรื่องต่อจาก "เด็กหญิงโต๊ะโตะจัง" ที่เพิ่งอ่านจบไปอยู่ทางเดียว  แต่พอต่อรองว่าอ่านตอนเดียวก่อน ฮั่นกลับชอบมาก จบตอนหนึ่ง ไม่ยอมให้แม่ชวนคุยชวนคิดก่อน ขออ่านตอนถัดไป ภาพประกอบสีสันสดใส และตลก แถมคนเขียนยังมีTrick เล็กๆแต่มีประสิทธิภาพมากในการสร้างความน่าติดตามให้อ่านในทุกหน้า นั่นก็คือ ตัวละครอีกตัวหนึ่ง ชื่อ หนอนเออร์นี่ ที่จะแอบโผล่อยู่มุมใดมุมหนึ่งของภาพประกอบ ซึ่งเด็กๆต้องสังเกตเอาเองเพราะเออร์นี่ขี้อาย  มุขนี้นี่เองที่ทำเอาฮั่นตั้งใจอ่านจนจบภายในคืนเดียว ผิดแผนที่แม่จะอ่านให้ฟังวันละตอนเลย แถมยังมีหน้ามาบอกว่า เห็นมั้ยอ่านวันเดียวก็จบ ไม่เห็นต้อง 7 วันเลย  คืนถัดมาก็ยังขอให้อ่านอีกรอบหนึ่งทันทีที่เข้าห้องนอน

ฮั่นชอบตอน หมีกู๊บกับชุดสะสมแมลง อุปนิสัยที่ 2 เพราะตรงกับสิ่งที่ฮั่นกับปะป๊ะกำลังทำอยู่ คือวางแผนเก็บเงินซึ้อ Lego Star wars  เหมือนหมีกู๊บที่ลงมือเขียนเป้าหมายที่ตนเองต้องการ หาวิธี วางแผนและลงมือทำ จนสุดท้าย หมีกู๊บสามารถซื้อของที่ตัวเองอยากได้ตามที่ลิสไว้ทุกข้อ แถมยังมีเงินเหลือพากระต่ายจัมเปอร์ซึ่งใช้เงินแบบไม่วางแผนหมดไปอย่างรวดเร็วไร้สาระ ไปดูหนังได้อีก   อ่านจบตอน ฮั่นบอกว่า เหมือนฮั่นเลย แล้วก็ยิ้มๆ



ระดับความน่ามีไว้ครอบครอง
แนะนำค่ะ เหมาะมากกับการช่วยพ่อแม่นำพาลูกไปสู่อุปนิสัยที่ดี แบบไม่ใช้การบังคับ เคี่ยวเข็ญ พูดบ่น ซึ่งเป็นวิธืที่ไม่ได้ผลอย่างแรง เด็กๆเรียนรู้จากนิทานได้อย่างไม่รู้ตัว เป็นการสอนแบบสร้างทัศนคติด้านบวกให้เด็ก เห็นผลจากการกระทำต่างๆได้ชัดเจน ใกล้ตัว เป็นเหตุเป็นผลที่เด็กๆรับรู้และเข้าใจได้  สำหรับพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจหรือรู้จัก 7 Habits ก็สามารถเริ่มต้นอ่านจากเล่มนี้ได้ค่ะ เริ่มพร้อมลูกยังสนุกอย่างมีสาระค่ะ


วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ศิลปะศิลเปอะ: แรกเริ่มตัด พับ ประดิษฐ์ ครั้งแรกของการทำศิลแปะของธันธัน

วันนี้ ตั้งใจหยิบเล่มนี้มาทำกับธันๆช่วงเช้า ช่วงหลังแม่มันเริ่มมีเวลาเตรียมของเล่นให้ลูกน้อยลง เราขอใช้ตัวช่วยแสนน่ารักเล่มนี้แทน "แรกเริ่มตัด พับ ประดิษฐ์"


รูปข้างในสวยน่ารัก กระดาษแข็งดีมีให้เล่นหลายอย่าง วันนี้เป็นครั้งแรกที่ธันจะทำงานกระดาษเลยเลือกอันง่ายๆก่อน อ่านเทคนิคการเล่นและใช้หนังสือให้เกิดประโยชน์สูงสุดก่อน หนังสือแนะนำให้พ่อแม่เตรียมตัดชิ้นงานให้เรียบร้อยก่อนทำ ให้เด็กลงมือทำเอง และมีเทคนิคอีกหลายข้อซึ่งกะจะนำมาใช้เมื่อธันโตพูดเข้าใจกว่านี้หน่อย พร้อมแล้วก็ลุย



อุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มเติม
1. กรรไกร
2. กาวแท่ง

งานแรกดูน่าจะเหมาะ เป็นงานตัดแปะต้นไม้

ฉีกกระดาษ ต้องช่วยฉีกเป็นรอยนิดหน่อย

แปะๆ

ทากาว เหมือนตำส้มตำเลย

จับมือทากาวให้ทั่ว


ช่วงเย็น มาเล่นอีกอัน เป็นงานพับ รถโรงเรียน 


ช่วยพับแล้วให้ธันกดๆนิดหน่อย ก็เสร็จ แต่คุณชายเอาไปเล่นเป็นโรงจอดรถแทน สนุกไปอีกแบบ


เบื่อแล้วเล่นเป็นสะพานด้วย 555

สิ่งที่สังเกต
-ลูกไม่รู้วิธีการทากาว เมื่อจับมือทำแล้วดีขึ้น แต่ยังยั้งน้ำหนักมือไม่เป็น
-ชอบฉีกกระดาษมากเพราะปกติโดนห้าม แต่กระดาษแข็งต้องทำเป็นรอยให้หน่อยหนึ่ง
-ธันเชื่อมโยงรูปร่างของรถเมล์กับโรงรถ กับสะพาน คิดว่ายังไม่เคยเห็นรถเมล์ท่ีคนนั่งเยอะๆ ต้องพาไปดูไปลองสักหน่อยแล้ว

สนุกแบบสบายๆไปอีกวัน




รีวิวอ่านเพื่อลูก นิทานสำหรับเด็ก เมฆเริงรำ สายน้ำร้องเพลง

การศึกษาวอลดอร์ฟ : นิทานสำหรับเด็ก
 เมฆเริงรำ สายน้ำร้องเพลง

 ข้อมูลหนังสือ
เรื่อง รวบรวมโดย รัถยาคม สถาบันเพื่อการศึกษาแนววอลดอร์ฟและมนุษยปรัชญา
ผู้แปล จิตรา ธนาโอฬาร, จันทร์เพ็ญ พันธุ์โอสถ
สำนักพิมพ์ อัมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ จำกัด
จำนวนหน้า 130 หน้า

หลังจากฮั่นเริ่มเข้าอนุบาลสอง เราเริ่มเปลี่ยนการอ่านหนังสือก่อนนอนจากหนังสือภาพ มาเป็นหนังสือไม่มีภาพดูบ้าง ด้วยความอยากที่จะเปิดโลกของจินตนาการอีกขั้นของฮั่น ดูน่าท้าทายมากว่าฮั่นจะมีสมาธิและสนใจกับเรื่องเล่ายาวๆได้หรือไม่ อีกอย่างก็เป็นโอกาสดี ที่คนเล่าจะได้เปลี่ยนบรรยากาศจากการอ่านนิทานหรือหนังสือภาพซ้ำไปซ้ำมา งานนี้ฮั่นไม่มีสิทธิเลือกเท่าไร เพราะยังอ่านหน้าปกหรือเนื้อหาไม่ออก ขอเผด็จการในการเลือกเรื่องที่จะเล่าบ้าง เพื่อความสุขเล็กๆของมามี้ก่อนนอน

โครงการ อ่านเพื่อลูก จึงเกิดขึ้น  เน้นอ่านหนังสือที่เป็นแนวบรรยาย เน้นวรรณกรรมเด็กๆ ดีๆ สมัยเราเด็กๆ จนปัจจุบัน  ปกติจะอ่านหนังสือให้ฮั่นฟังก่อนนอนอยูํ่แล้วเป็นกิจวัตรประจำวัน เรายังคงดำเนินอยู่เหมือนเดิม ฮั่นยังสามารถเลือกหนังสือที่อยากให้แม่เล่ามาให้อ่านเหมือนเดิม แต่เรื่องปิดท้ายจะเป็นหนังสือที่แม่จะอ่านให้ฟัง ฮั่นไม่ต้องดูภาพ นอนฟังอย่างตั้งใจและได้หลับฝันดี 

เล่มแรกที่คุณแม่กัลยาณมิตรที่น่ารักแนะนำมา คือ เมฆเริงรำ สายน้ำร้องเพลง ของรัถยาคม  เป็นหนังสือรวมนิทานที่ใช้ที่ศูนย์การเรียนปัญโญทัย ซึ่งโรงเรียนแนวทางเลือกหลายโรงเรียนนำมาใช้เล่าให้เด็กวัยเตรียมอนุบาลถึงอนุบาลฟัง มีการจัดกลุ่มนิทานที่เหมาะกับเด็กในแต่ละช่วงวัย ทั้งความยากง่ายของเนื้อหา ความยาว และภาษาที่ใช้ บางเรื่องเคยได้ยินตอนฮั่นอยู่เตรียมอนุบาลที่วรรณสว่างจิต คุณครูจะเล่านิทานเรื่องเดียว ทุกวัน เป็นเวลาหนึ่งเทอม จบเทอมปุ๊บ เด็กๆสามารถเล่าเรื่องได้ตามที่ครูเล่าเหมือนเปี๊ยบทุกประโยค ทุกคำเลย  จำได้ว่ามีเรื่อง  กระต่ายกับแครอท ต้นหัวผักกาดยักษ์  พอเข้ารุ่งอรุณ ฮั่นชอบหลายเรื่องเลย เช่น ของขวัญจากฟากฟ้า (เรื่องนี้เล่าสิบกว่ารอบ) บุบบิบบู้บี้ ฯลฯ



นิทานที่รวบรวมในเล่มมีที่มาจากทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่นิทานกริมม์ นิทานพื่นบ้านของประเทศต่างๆ เป็นเทพนิยายบ้าง มีอิทธิฤทธิ์ หรือปาฎิหารเหนือจริง สนุกและน่าสนใจชวนให้เด็กได้เข้าสู่โลกจินตนาการไม่มีที่สื้นสุด

 


ชอบคำนำ "ภาพชีวิตจากนิทาน" ของหนังสือที่เกริ่นนำที่มาของนิทานภายในเล่ม บอกเล่าความเชื่อมโยงระหว่างนิทานกับชีวิตจริงที่เด็กจะได้เรียนรู้และซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว  ผู้เขียนได้แนะนำว่า เวลาเล่านิทานให้เด็กฟัง ไม่ควรอธิบายความหมายของสิ่งที่นิทานอยากสื่อ หรือสรุปเรื่องสอนใจให้เด็กฟัง เด็กจะเชื่อมโยงเรื่องที่รับฟังได้เอง การตีความหมายของเด็กในเรื่องนั้นอาจไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้ใหญ่คิดก็เป็นได้ พ่อแม่ส่วนใหญ่จะไม่กล้าอ่านเนื้อเรื่องหรือตัวละครหรือเหตุการณ์ที่โหดร้าย หรือรุนแรงให้ลูกฟัง เพราะกลัวว่าลูกจะก้าวร้าว รุนแรง ซึ่งจริงๆแล้ว เด็กๆสร้างจินตนาการไม่ได้น่ากลัวเหมือนที่คุณพ่อคุณแม่คิด เช่น แม่มดใจร้ายโดยฆ่าตาย เด็กคิดเชื่อมโยงเพียงว่าความชั่วร้ายถูกทำร้ายลง เท่านั้น  กลับกัน หากลูกได้ดูภาพหรือหนังที่รุนแรงและโหดร้ายผ่านทีวีหรือภาพยนตร์หรือสื่อต่างๆ เด็กจะถูกยัดเหยียดภาพนั้นเข้าหัวโดยไม่สามารถป้องกันตัวได้

ทุกคืน ฮั่นจะเป็นคนเลือกว่าจะฟังเรื่องไหน เหมือนจะเลือกจากชื่อนิทานนะเพราะไม่มีรูปเลยสักหน้า มีแต่ที่หน้าปก คงฟังดูว่าชื่อไหนชอบก็จะบอกให้อ่านให้ฟัง บ้างครั้งมามี้ก็มีเสนอเรื่องที่ตัวเองอยากอ่านบ้าง ฮั่นจะมาfinalize ตัดสินใจครั้งสุดท้ายอีกที เพราะฉะนั้นมีที่ยังไม่ได้อ่านหลายเรื่อง เพราะชื่อยังไม่โดนใจคุณชายซักที

ระดับความน่ามีไว้ครอบครอง

ลองหามาอ่านให้ลูกดูนะคะ อาจจะหายากสักหน่อยเพราะไม่ได้มีวางขายทั่วไป สามารถติดต่อที่ปัญโญทัยได้ค่ะ  นิทานในสองเล่มนี้ได้คัดสรรตามวัยของเด็กได้อย่างเหมาะสม มีเรื่องสนุกๆน่ารักๆ เหมาะทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย ที่โรงเรียนทางเลือก นิทานพวกนี้เป็นส่วนสำคัญในการสอนเรื่องภาษาและสังคมค่ะ เด็กๆได้รู้จักและเข้าใจคำศัพท์ยากๆได้อย่างพ่อแม่งง จำได้ว่าฮั่นชอบใช้คำว่า "เพราะฉะนั้น" บ่อยมากจนงงว่าเอามาจากไหน เราก็ไม่เคยพูดเป็นทางการกับลูกเลย มาเจอในนิทานนั่นเอง 
สรุปบ้านไหนที่อยากประหยัดแค่ 2 เล่มก็อ่านได้ไปหลายเดือนเลยค่ะ 

วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สัมผัสทั้ง 7 กับ Sensory Integration รากฐานการเรียนรู้และเป็นอยู่อย่างมีความสุขของลูก

8 ต.ค. 2014

เคยตั้งคำถามกับตัวเองบ้างมั้ยค่ะว่า ทำไมลูกฉันดูเยอะ เลือกมากไปทุกสิ่ง ป้ายเสื้อต้องตัดออก ให้ลองชิมลองกินของใหม่ก็ปฏิเสธ เดินแป็บเดียวก็หกล้ม หรือบางครั้งก็กลัวไม่กล้าจับของที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

แต่ก่อนคิดว่า คงเพราะลูกเราขี้กลัว หรือขี้รำคาญ เดียวก็หายไปเอง ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ต่อพอฮั่นเริ่มเข้ามาเรียนที่รุ่งอรุณ ก็เริ่มได้ยินเกี่ยวกับเรื่อง sensory  มากขึ้น  ตอน อ.1 โดนคุณครูทักว่าฮั่นเลือกกิน ไม่ยอมอะไรแปลก เพราะไม่ค่อยได้ใช้ sensory ในปาก ตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่ามันเกี่ยวกันยังไง คุณครูแนะนำให้นวดกระพุ้งแก้ม หรือลำคอจะช่วย ก็ทำตาม  คิดไปว่าก็คงเป็นปัญหาด้านการสัมผัสรับรู้จาก sense ทั้ง 5 คือ  รับรส มองเห็น ได้ยิน ดมกลิ่น และสัมผัส อะไรประมาณนั้น

จนกระทั่ง ที่โรงเรียนส่งจดหมายมาว่า ห้องเล่นลูกรัก หรือที่เรียกติดปากว่า ห้องOT (Occupational Therapy) กับกลุ่มพ่อแม่อาสากำลังจะจัดอบรมเรื่อง "เข้าใจลูก พัฒนาลูกด้วย Sensory Integration:SI" ตัดสินใจลงเรียนโดยไม่คิดอะไรมาก หวังว่าคงได้อะไรกลับมาปรับใช้กับฮั่น และธันธันที่กำลังเริ่มโต เริ่มอยากรู้อยากเห็น   

การอบรมครั้งนี้ มีอ.ดร.สรินยา ศรีเพชราวุธ   ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน SI และเป็นผู้ช่วยก่อตั้งห้อง OT ที่โรงเรียน นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ยังเป็นหนึ่งในสองท่านที่ Certified การประเมินด้าน SI แบบสากลแรกของประเทศไทย  ทั้งอาจารย์และทีมผู้ช่วยน่ารักมาก อธิบายและแชร์ประสบการณ์ตรงในการทำงานห้อง OT   

ก่อนจะเข้าใจว่า SI ว่าคืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับการใช้ชีวิต อาจารย์ได้เปิดโลกอีกโลกให้เราได้รับรู้ว่า ประสาทความรู้สึก มันไม่ได้มีแค่ 5 นะที่เรารู้จักกันดีอย่างการรับรู้ผ่าน การมองเห็น (Visual) การได้ยิน (Auditory) การรับรส(Gustatory)  การดมกลิ่น (Olfactory) และการสัมผัส (Tactile) มันยังมีอีก 2 Senses ที่สำคัญมาก นั้นก็คือ 


>ระบบประสาทรับรู้การเคลื่อนไหวและสมดุล (Vestibular sense or Movement and Balance sense) ซึ่งมีส่วนที่รับรู้ความรู้สึกผ่านระบบประสาทที่อยู่ในหูชั้นใน  ทำให้เรารักษาสมดุลเมื่อร่างกายเปลี่ยนท่าทาง เคลื่อนไหวอย่างนุ่มนวล    

>ระบบประสาทรับรู้ผ่านกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ(Proprioceptive sense or Body Position sense)  มีส่วนรับรู้ตำแหน่งและการเคลื่อนไหวร่างกาย กะระยะ ลงน้ำหนัก การทำอะไรได้โดยไม่ต้องมอง เช่น ทำมือแมงมุมไปเรื่อยๆ จนเหนือหัวตัวเอง เขียนหรือพิมพ์งานโดยไม่ต้องมอง

7 Senses

credit: makingsns.com


ลองคิดภาพเวลา เรากำลังเดินถือของอยู่ในห้าง ใส่สนสูงเดินด้วย แล้วเดินผ่านกองเสื้อผ้าลดราคา เราจะยังคงเดินต่อไป แต่เลี้ยวมองจนสุดคอเอียง  เหตุการณ์นี้ เราได้ใช้ประสาทการมอง ประสานกับ ประสาทการเคลื่อนไหวและสมดุล ทำให้เราสามารถเดินโดยไม่มองข้างหน้าได้ นอกจากนี้ ระบบ Proprioceptive ยังช่วยให้การลงน้ำหนักขาที่เลี้ยงตัวอยู่บนสนสูงได้อย่างไม่ล้ม


นี่แหละค่ะ คือ SI  ร่างกายรับรู้เหตุการณ์หรือ input ผ่านระบบประสาทรับรู้ทั้ง 7  ส่งผ่านให้สมองประมวลและสั่งการร่างกาย ได้เป็น output ออกมา เป็นการเคลื่อนไหว พฤติกรรม และการแสดงออกต่างๆ

อธิบายแบบมีหลักการหน่อย  SI คือ กระบวนการที่สมองประมวลและจัดการกับสิ่งเร้าหรือความรู้สึกที่เราได้รับผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 7 จากนั้น สมองจะสั่งการ และตอบสนองออกมาในรูปของพฤติกรรม หรือการเคลื่อนไหว หรือการแสดงความรู้สึก  ซึ่งหากระบบประสาทรับรู้ทำงานได้ปกติและมีประสิทธิภาพ สมองรับรู้และตอบสนองได้ดี เด็กจะสามารถใช้ชีวิตประจำวัน และมีทักษะในการใช้ร่างกาย เคลื่อนไหว และแสดงอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมและมั่นคง เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเรียนรู้ และพัฒนาความสามารถในด้านต่างๆ  ในทางตรงกันข้าม หากระบบประสาทรับความรู้ส่วนไดส่วนหนึ่งทำงานไม่เหมาะสม หรือไม่เต็มประสิทธิภาพ สมองได้รับ input ที่มากไปหรือน้อยไป การตีความและส่งผลกระทบต่อให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมและการเคลื่อนไหวนั้นเอง ว่าด้วย Concept โดยรวม

จากนั้น อาจารย์อธิบาย SI ที่สำคัญของเด็ก 3 ระบบประสาทความรู้สึก ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของเด็กในการเคลื่อนไหวและเรียนรู้ นั้นก็คือ ระบบประสาทสัมผัส หรือ "กายสัมผัส (Tactile)"  "Proprioceptive" และ "Vestibular"  ซึ่งในกรณีที่มีการรับรู้อย่างไม่เหมาะสมในระบบใดระบบหนึ่ง หรือรวมกันหลายระบบ ก็จะทำให้ลูกของเรามีปฏิกิริยา หรือตอบสนองสิ่งเร้าในระดับที่ไม่เหมาะสม อาจจะรับรู้ไว (Hypersensitive ) หรือช้า/ต่ำกว่าปกติ (Hypo-sensitive)

ระบบ
พฤติกรรมบ่งชี้
ผลกระทบ
กายสัมผัส Tactile
ไวต่อการสัมผัส
-หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าบางชนิด
-หลีกเลี่ยงการกอด หรือสัมผัสตัวและใบหน้า
-ไม่ขอบการอาบน้ำ สระผม ตัดเล็บ ตัดผม
-ไม่ขอบสัมผัสวัสดุพื้นผิวที่ไม่คุ้นเคย
-กังวลเวลาคนเข้ามาใกล้
-บกพร่องในความสามารถรับรู้รูปทรงโดยการสัมผัส หรือแยกแยะสิ่งของที่แตกต่าง
-ทักษะการใช้มือ หรือร่างกายไม่ดี
-ปัญหาการคิดและวางแผนการเคลื่อนไหว
Vestibular
-หกล้มบ่อย
-นั่งตัวตรงได้ไม่นาน
-กังวลหรือกลัวเวลาเปลี่ยนท่าทางร่างกาย หรือเปลี่ยนสมดุลร่างกาย
-ถ้าเป็นพวกที่รับรู้ได้ช้า ก็จะแสวงหาสิ่งเร้า เช่น อยู่ไม่นิ่ง เคลื่อนไหวไปมา ชอบเล่นผาดโผน

-ใช้มือสองข้างทำงานรวมกันได้ไม่ดี เช่น ใช้กรรไกร ผูกรองเท้า
-บกพร่องในการประสานสัมพันธ์กันของร่างกายสองด้าน
-ยากลำบากในการรักษาสมดุลร่างกาย
Proprioceptive system
มีปัญหาคิดและวางแผนการเคลื่อนไหว Dyspraxia
-ใช้เวลานานในการทำกิจวัตรประจำวัน ลำดับหรือรู้จังหวะการเคลื่อนไหว
เช่น ติดกระดุม
-ไม่ชอบกีฬา มีปัญหากล้ามเนื้อมัดใหญ่
-มีปัญหากล้ามเนื้อมัดเล็ก ไม่ชอบเขียน ใช้มือเล่นต่อประกอบ
-ซุ่มซ่าม เจ็บตัวจากการหกล้มและสะดุด
-กะแรงในการใช้มือและร่างกายไม่เป็น
-ปัญหาเคลื่อนไหวหรือปรับท่าทางให้เหมาะสม


หากเด็กๆได้รับการพัฒนา SI อย่างเหมาะสมกับวัยแล้ว ผลที่ได้รับ คือ 
-มีสมาธิในการทำงานต่างๆ 
-ความสามารถในการจัดการกับสิ่งต่างๆได้
-เกิดความมั่นใจในตนเอง 
- มีความมั่นคงทางอารมณ์
-สามารถควบคุมตนเองได้
-ความสามารถทางการเรียน และการคิดเชิงนามธรรมและคิดแบบมีเหตุมีผล
- เกิดความถนัดของร่างกาย


คลิปนี้ช่วยอธิบายเรื่องของ Sensory processing disorder ได้เข้าใจง่ายขึ้น



ที่นี่ ช่วงบ่าย เราได้ลองเล่นกิจกรรมที่ออกแบบเพื่อพัฒนาเรื่อง SI ในแต่ละด้าน มี 3 ฐาน ตามระบบรับความรู้สึกทั้ง 3 ระบบ





ฐานแรกจะเป็นเกมเพื่อเพิ่ม sensory experience ในการเคลื่อนไหว (Obstacle course and activity for enhancing sensory experience for motor planning)  มีผสมผสานเกือบทุก Sense โดยเฉพาะ Proprioceptive กับ Vertibular เหมือนเล่นเกมบันซึเกะ พวกเกมวิบากเลย เริ่มจากการกระโดดข้ามท่อต่างระดับ

 

วิธีการเล่นของทุกเกมสามารถพลิกแพลง เพิ่มลดความยากง่ายตามทักษะของเด็ก ควรทำให้ไม่ยากจนเด็กรู้สึกไม่ท้าทาย หรือไม่ง่ายจนเด็กเล่นไม่ผ่าน ควรจะให้กระโดดสองขาคู่ เพื่อให้เด็กได้ใช้แรงขาได้อย่างเหมาะสม สามารถปรับให้ยากเป็นกระโดดขาเดียว หรือกระโดดไปตบมือไป โดยเพิ่มจำนวนตบมือไปเรื่อยๆ 
กระโดดเองก็เหนื่อยแล้ว 

ตามด้วย ด่าน Mission Impossible (อันนี้ตั้งเอง) เป็นการคิดวางแผนการเคลื่อนไหวร่างกายให้ไม่โดนเส้นเชื่อกที่พันกันเป็นใยแมงมุม 



ต่อด้วย ปีนข้าม Big ball ช่วยในเรื่องการปรับการทรงตัว และวางแผนการข้าม ถ้าช้าไปก็จะข้ามยาก  
จากนั้นไป ไม้คานทรงตัว เวลาเล่นแบบง่าย คือเดินต่อเท้าไปเรื่อยๆ  ถ้าให้ยากขึ้น ก็เดินไขว้ขาข้ามคานไป  ยากขึ้นไปอีกก็กระโดดข้ามคานสลับไปมา กระโดดขาคู่ ขาเดียวได้ทั้งนั้น 

และไปต่อที่ โบวลิ่งคน สมมติตัวเองเป็นลูกโบวลิ่งกลิ้งเองผ่านพื้นสัมผัสต่างๆ จากพรม เพิ่มการรับรู้ด้านการสัมผัส และต้องใช้เกือบทั้งหมดในการวางแผนการกลิ้ง การรักษาสมดุลย์ให้กลิ้งไปหลุดจากแนว เพื่อไปชนพินได้




เกมชักกะเย่อเลี้ยงตัวบนลูกบอล อันนี้ไม่ได้ถ่ายรูปมา ชักกะเย่อนี้สนุกดี สองฝ่ายจะได้นั่งบนลูกบอลรูปถั่วยักษ์แล้วก็ชักกะเย่อกันไป อันนี้มือไม่ว่างแล้วเลยไม่ได้ถ่ายรูปมา 

ก่อนย้ายฐาน ได้รวมทั้งกลุ่มเล่นพาราชูท  เกมนี้เล่นได้หลายคน วิธีเล่นเยอะ เปลี่ยนแปลงได้ เช่น เลี้ยงลูกบอลให้อยู่ในวง  เล่นเรียกชื่อ/สีเปลี่ยนตำแหน่ง พอเรียกปุ๊บ คนที่ถูกเรียกต้องวิ่งมุดด้านล่างเปลี่ยนตำแหน่ง เป็นต้น 




ฐานที่ 2 กิจกรรมพัฒนาการสัมผัส (Tactile Play) เปลี่ยนความกลัวให้เป็นกล้า ด้วยกิจกรรมสนุกๆ เริ่มจากแล่นรถในครีมโกนหนวด การหาสมบัติในบ่อถั่ว และข้าวสารบวกมักกะโรนี  และมีดินสังเคราะห์เหนียวๆ (จำชื่อไม่ได้) มีระดับความเหนียวจากน้อยไปมาก สำหรับเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็ก และการสัมผัส  ปิดท้ายด้วยกิจกรรมเขียนหลังใบ้คำ  


ถังข้าวสารกับถังถั่ว หาลูกแก้วและของเล่น




แล่นรถบนโฟม


ก่อนเปลี่ยนฐาน คุณครูจะให้พ่อๆแม่ๆช่วยกันคิดว่า จะสามารถดัดแปลงของใช้ในบ้านอะไรมาทำเป็นเกม เพื่อพัฒนา Tactile  ที่คิดกันได้ก็มี เยลลี่ แป้งผสมน้ำ น้ำแข็ง 

ฐานสุดท้าย มี Scooter board games, Heavy work activities and Animal walks 
อันนี้ โหดสุด เราเล่นเองยังเหนื่อยเลย เป็นการประสานหลายๆ sensory เข้าด้วยกัน ต้องมีการวางแผนการเคลื่อนไหวที่ดี รวมทั้งเป็นกิจกรรมเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเคลื่อนไหวและการใช้ชีวิตประจำวัน 

เกม Scooter board  ต้องใช้แรงขาในการถีบตัว เพื่อไปหยิบรูปภาพที่หนีบไว้ให้ได้ตามรูปที่บอก อันนี้ประสานประสาทรับรู้หลายส่วนมาก ต้องมีการวางแผนที่ดีและร่างกายที่แข็งแรง เราเล่นเองถีบตัวแถบจะไม่ถึงเส้น แถมดึงรูปไม่หลุดจากราวอีก 





เกมจับคู่พิสดาร  ผู้เล่นต้องวางเท้าไว้บนพื้นยก ถ้าที่บ้านอาจจะใช้โซฟาหรือเก้าอี้เตี้ยๆได้ แล้วจับคู่รูปภาพที่เหมือนกัน โดยต้องเคลื่อนย้ายตัวไปหยิบแต่ละชิ้นไปวางไว้บนรูปคู่กัน เหนื่อยมากเกร็งท้อง ทำเองจับคู่ได้แค่ สามคู่ ก็ไม่หมดแรงไม่ไหวแล้ว นี่ฉันบกพร่อง SI เหมือนกันหรือนี่ 


















จากนั้นมาลองทำ Animal walks มีท่าปู กับท่าแมงมุมจะคล้ายกับท่าปูแต่ก้นลงมาหน่อย เกร็งท้องมากค่ะ รู้เลยว่า มามี้ไม่ฟิตจริงๆ 


ท่าแมวน้ำ อันนี้ยากสุด ทำได้แค่คืบเดียวก็หมอบแล้ว


พอได้ลองแต่ละกิจกรรมแล้ว สำหรับเราซึ่งไม่ได้บกพร่องในเรื่องของ SI ยังรู้สึกว่าบางกิจกรรมก็ไม่ง่ายที่จะทำ แต่ว่าสนุกมาก ในมุมของการพัฒนาเด็ก เด็กจะสนุกมากและได้เสริมสร้าง sensory experienceได้อย่างเพลิดเพลินโดยไม่รู้ตัว แถมได้รู้ถึงความสำคัญในเรื่องความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและร่างกายของเด็ก 

ลองคิดย้อนกลับไป ถึงลูกๆของเรา หากเขามีความบกพร่องหรือยากลำบากใน SI เรื่องใดเรื่องหนึ่ง การเล่นทำกิจกรรม หรือดำเนินกิจวัตรประจำวันต่างๆของเขาคงผ่านไปได้อย่างยากเย็นมาก ไม่ต่างกับการเล่นเกมด้านบน  แถมถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ และบังคับหรือให้ลูกทำสิ่งที่เขายังไม่สามารถรับมือหรือจัดการกับสิ่งต่างๆได้อย่างเหมาะสมแล้ว ลูกคงทุกข์ใจและเกิดความกลัวสิ่งนั้นไปนาน ยกตัวอย่างง่าย เช่น ประสบการณ์ไม่ดีเกี่ยวกับการว่ายน้ำ เด็กบางคนไวต่อการสัมผัสน้ำที่หน้ามาก เจอน้ำสาดเข้าหน้าก็ตกใจกลัว เมื่อลงสระเจอเด็กข้างๆตีน้ำใส่ เกิดความกลัว ไม่กล้าเล่นน้ำหรือลงสระไปโดยอัตโนมัติ 

อาจารย์อธิบายว่า หากสงสัยว่าลูกมีความบกพร่องในด้านใดด้านหนึ่ง สามารถนำลูกไปประเมินได้ค่ะ ทางห้อง OT จะมีวิธีการวินิจฉัยเป็นเช็คลิสในเบื้องต้น และเมื่อรู้แน่นอนว่าลูกบกพร่องหรือขาด SI ในด้านใด ทีมงานจะออกแบบกิจกรรมหรือให้คำแนะนำในการเสริมสร้างและพัฒนา SI นั้นๆ โดยพื้นฐานในการทำกิจกรรมจะเน้นความสนุก ไม่บังคับหรือกดดัน เนื่องจากจะส่งผลเสียต่อเด็ก  จะเน้นให้เพิ่มความเข้มข้นของกิจกรรมที่ละน้อย แต่สม่ำเสมอ เพื่อให้เด็กยอมรับและสมัครใจในการทำค่ะ   ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่เองก็สามารถชวนลูกทำกิจกรรมง่ายได้ เราสามารถดัดแปลงวิธีการเล่นหรือกิจกรรมนั้นๆ เพิ่มหรือลดความยากง่ายให้เหมาะกับลูกของเราค่ะ หรือลอง search หา Occupational Therapy เพื่อหากิจกรรมเพิ่มเติมได้ค่ะ 

เมื่อมาอบรม ทำให้เข้าใจแนวการวางการเรียนการสอนของโรงเรียนรุ่งอรุณมากขึ้น เริ่มเชื่อมโยงกับสิ่งที่ครูเคยชี้ให้เราเห็นถึงลูก และมักให้เราสังเกตและประเมินการเดิน วิ่ง เล่น ใช้มือของลูก การใช้ร่างกาย และให้พ่อแม่ ทุกครั้งที่มาวันหยดน้ำ วันก่อนปิดภาคเรียนของเด็กๆ ซึ่งต่างจากโรงเรียนอนุบาลที่อื่นๆที่เน้นวัดผลคะแนนจากการเรียนหรือการสอบเป็นหลัก เรื่องร่างกายเป็นรอง  
การเรียนการสอนที่โรงเรียนออกแบบมา ทั้งสนามเด็กเล่น ต้นอรพินที่ให้เด็กปีนปาย สนามทราย และการใช้เครื่องครัวหรืออุปกรณ์จริงๆ เช่น หม้อ กระทะ  เพื่อให้เด็กได้รู้น้ำหนักที่แท้จริงของสิ่งของและสามารถเรียนรู้และจัดการกล้ามเนื้อ กะแรงในการใช้ได้จริงๆ แทนที่จะเล่นของเล่นพลาสติก  นอกจากนี้ กิจกรรมการเรียนรู้ อยู่เป็น ของเด็กอนุบาล เน้นเพิ่มทักษะร่างกายผ่านการดำเนินชีวิตในกิจวัตรประจำวันอย่างง่ายๆ นอกจากจะสร้างเสริมประสบการณ์ ความรับผิดชอบแล้ว ที่สำคัญเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้ร่างกายอย่างเหมาะสม ซึ่งเด็กๆขาดมากเมื่ออยู่ในบ้านที่มีคนรับใช้ หรือคนคอยช่วยเหลือในทุกเรื่องในบ้าน

ได้ความรู้มากมาย ถึงเวลาเราต้องกลับไปสังเกตลูกให้มากขึ้น เปิดโอกาสให้ลูกได้สัมผัส Sensory experience เพิ่มขึ้น กิจกรรมมากมายผุดขึ้นมาในหัวเต็มไปหมด อยากพาลูกเล่นแล้ว 


  




วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

Mamy's lab: follow up เรือน้ำแข็งสี episode 2

มาลองกันต่อกับการทำเรือน้ำแข็ง
คราวนี้สีเยอะขึ้น รูปร่างมีแปลก แตกต่างกว่าเดิม 
ฮั่นสนใจทำใบเรือ และกระดงเรือ พอติดเสร็จก็ไปเล่นกันในห้องน้ำ เพราะคราวก่อนเลอะเทอะบ้านมาก

ฮั่นเตรียมทำธงมาสองสามอัน ตั้งใจติดเพราะครั้งก่อนธงไม่แขึงแรง แป๊บเดียวก็หลุดและตกน้ำ




ติดเสร็จพร้อมเอาไปลอย

ภาพก่อนติดธง ครั้งนี้ทำเรือให้เตี้ยๆฐานกว้าง เพื่อให้ลอยได้

เรือสีแดง

ลงมือลอย ไม่ต้องพูดอะไรมาก เล่นกันมันส์

เรือสีขาวท้องแบนกว่ากว้างกว่าเลยไม่ล้มเหมือนสีแดง เรือละลาย น้ำในกะลามังก็เปลี่ยนสีตาม


เรือสีเขียวกะสีดำลงน้ำ ฮั่นทำคลื่น

ธันเริ่มสนใจการตักน้ำมากกว่าเล่นเรือ

เรือละลายเกือบหมด เหลือเรือสีดำ ฮั่นเอามาใส่กล่องให้ลอยต่อ

เล่นเสร็จช่วยกันล้างถ้วยและกะลามัง ธันๆก็โดนจับอาบน้ำต่อเพราะเปียกไปทั้งตัว เด็กถูกใจได้เล่นแก้ร้อน แม่มันเหนื่อยน้อยหน่อยเพราะเก็บล้างง่ายอยู่ใยห้องน้ำ 

ข้อสังเกตจากการfollow up การทำศิลปะ
-ธันไม่เอาสีน้ำแข็งเข้าปาก โดยไม่ต้องบอก
-ธันรู้ว่าจะเอาสีออกมาจากถ้วยยังไง และนำเอาสีนำ้แข็งกลับเข้าถ้วยเมื่อยังไม่ได้ใช้
-ธันสนใจการเคลื่อนไหวของเรือ ในตอนที่ฮั่นทำคลื่น แสะอยากทำตามบ้าง
- ธันสนใจการตักน้ำและเทน้ำเข้าออกในถ้วย
-ฮั่นเล่นพลิกแพลงกับเรือในกะลามัง 
-ยังชวนฮั่นสังเกตเรือรูปร่างต่างกันว่าอันไหนน่าจะลอยได้นาน ไม่สำเร็จ  คุณชายเล่นมั่วเอามันส์จนน้ำแข็งละลายก่อนสอน