วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557

รีวิวหนังสือพ่อแม่ ทำอย่างไร พี่น้องไม่ทะเลาะกัน Siblings Without Rivalry

ทำอย่างไร พี่น้องไม่ทะเลาะกัน  Siblings Without Rivalry  
How to help your children live together
So you can live too

credit: chulabook


ข้อมูลหนังสือ
ผู้เขียน:  อเดล เฟเบอร์  เอเลน มาซลิซ
แปลโดย:  ศรีสุชา พิศาลบุตร แมคเคบบ์
ชนิดกระดาษ : กระดาษถนอมสายตา 
สำนักพิมพ์ : บี มีเดีย, สนพ.
เดือนปีที่พิมพ์ : 6/2009
จำนวนหน้า: 251

คำชวนอ่าน (ปกหน้า)

วิธีสร้างความปรองดองและลดความขัดแย้ง ระหว่างพี่น้องในครอบครัว เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข รักกัน ช่วยเหลือดูแล และพึ่งพากันได้


ความเห็นส่วนตัว


เหมือนดังที่ปกหลังมีเกริ่นไว้ว่า สิ่งสุดยอดปรารถนาของพ่อแม่นั้นก็คือ ลูกๆรักกัน  

"คงไม่มีเรื่องใดสำหรับพ่อแม่ที่จะเป็นทุกข์หรือเศร้าใจมากไปกว่าการที่เห็นลูกๆ ของตนทะเลาะกัน
 สิ่งที่เป็นความคาดหวังสูงสุดของพ่อแม่ คือได้เห็นลูกๆอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และช่วยเหลือพึ่งพากันได้ในอนาคต"


จับหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านหลังจากธันธันเริ่มโต เริ่มมิใช่น้องน้อยน่ารักของฮั่นเหมือนตอนเป็นเบบี้ ที่บ้านเริ่มต้องค่อยห้ามฮั่นไม่ให้ทำน้องแรงๆหลังจากธันธันไปทลายของเล่นพี่บ้าง หรือต้องคอยแยกลิงทั้งสองออกเมื่อเริ่มแย่งของกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งแย่งแม่กัน  ฮั่นเริ่มมีอารมณ์ปรวนแปรง่าย โดยเฉพาะต้นเหตุที่มาจากน้อง เลยคิดว่าคงถึงเวลาที่ต้องใช้ตัวช่วยเพื่อลดความปวดหัวเรื่องพี่น้องทะเลาะกัน อย่างน้อยก็เตรียมการแต่เนิ่นๆ ดีกว่ามาแก้ที่หลัง  

แต่ชีวิตจริงๆ เราเจอปัญหาลูกทะเลาะกันไม่เว้นวัน ลูกที่เคยน่ารัก กลับทำตัวร้ายกาจอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น หนังสือเล่มนี้ ช่วยคลายข้อสงสัยให้กับพ่อแม่ได้อย่างเข้าใจง่ายและจับต้องได้

ลองอ่านเหตุการณ์จำลองและคิดตามนะคะว่า ตัวเราจะมีปฏิกิริยาหรือความรู้สึกต่อคำพูดของสามี/ภรรยาอย่างไร

  "สามีพาภรรยาคนใหม่ซึ่งเด็กกว่า ตัวเล็กกว่า น่ารักกว่า มาที่บ้าน จากนั้น ภรรยาใหม่อยากได้เสื้อผ้า สามีเข้าไปหยิบเสื้อคุณมาให้ บอกว่าเล็กแล้วคุณใส่ไม่ได้" 

เออ ลองคิดไป ทำไป เรานี้อยากจิกหัวตบภรรยาคนใหม่มาก

นี้เป็นแบบฝึกหัด "ต้นเหตุของความร้ายกาจของเด็ก" หนึ่งในกิจกรรมที่เราจะได้ลองทำ ซึ่งผู้เขียนได้ยกมาให้ทดลองทำกันเพื่อให้เข้าใจว่า สิ่งที่ผู้เข้าร่วมตอบออกมาก็ไม่ต่างอะไรกับความคิดของลูกที่เป็นพี่เลย  เวรกรรม เราเริ่มเข้าใจแหล่ะว่า ฮั่นรู้สึกยังไง หึหึ


อเดล กับเอเลน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ทั้งสองได้ร่วมกันเขียนหนังสือ จัดกลุ่มสัมมนาเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของเด็กและครอบครัว มีชื่อเสียงโด่งดังมาก  สำหรับหนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนังสือหนึ่งในหลายเล่มของทั้งคู่ ที่มียอดขายมากกว่า 3 ล้านเล่มและแปลเป็นภาษาอื่นๆ กว่า 20 ภาษา ให้มันรู้กันไปเลยว่า พี่น้องทะเลาะกันเป็นปัญหาสุดแสนคลาสสิคที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะฝรั่ง หรือคนไทย หรือชาติไหนๆในโลกหล้าจริงๆ

ผู้เขียนได้รวบรวมเรื่องราวจากประสบการณ์ตรงในการเลี้ยงลูกของตนเอง ประสมประสานความรู้ที่ได้รับจากนักจิตวิทยาชื่อดัง  มีการศึกษา ทำแบบสำรวจจากเด็กและครอบครัวเพิ่มเติม รวบรวมปัญหาจากที่ไปจัดบรรยาย และการจัดทำ workshop กับพ่อแม่ในหัวข้อดังกล่าว  ซึ่งพบได้อย่างชัดเจนว่าปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในบ้านเป็นปัญหาอันดับต้นๆที่พ่อแม่ทุกคนสนใจ กลั่นกรองออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเสนอเนื้อหาในแต่ละหัวข้อโดยสอดแทรกบทสนทนาในวงกิจกรรม ความคิดเห็นของพ่อแม่ที่เข้าร่วม ภาพประกอบเหตุการณ์จำลองเหตุการณ์การเข้าคลี่คลายพี่น้องทะเลาะของพ่อแม่ เปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่ควรทำกับสิ่งที่ไม่ควรทำ และผลสรุปของหัวข้อนั้นๆ  ชอบตรงท้ายบทที่มี บทสรุปเตือนความจำ ที่กลั่นกรองสาระสำคัญ ข้อคิด และแนวทางในการปฏิบัติตัวของพ่อแม่ที่ควรเป็น 

สิ่งหนึ่งที่อ่านแล้วรู้สึกประหลาดที่สุดคือ พ่อแม่มีอืทธืพลอย่างมากที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างลูกๆ หรือทำให้เหตุการณ์อยู่ในสภาพที่แย่ขึ้นไปอีก  ในทางกลับกัน ก็พ่อแม่นี้แหละที่เป็นผู้ที่มีสามารถเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งของลูกให้ดีขึ้นได้ดีที่สุด มิใช่ใครอื่น

จากบทสนทนาในวง workshop พบว่า ผู้เข้าร่วมซึ่งก็คือพ่อๆแม่ๆในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ที่ไม่ดีในเรื่องความสัมพันธ์กับพี่น้อง รวมไปถึงความสัมพันธ์กับพ่อแม่ของตัวเองซึ่งสืบเนื่องมาจากพี่น้อง เช่น คิดว่าพ่อรักน้องมากกว่า โดนแม่เปรียบเทียบกับพี่ ฯลฯ หลายเรื่องรายด้านลบยังคงฝังในใจและส่งผลกระทบต่อภายในครอบครัว บางเรื่องเมื่อย้อนกลับไปคิด ก็กลายเป็นเรื่องตลกซึ่งทั้งพี่น้องก็ผ่านมันไปได้ และรักกันดีจนปัจจุบันนี้ ผู้เขียนมีความเชี่ยวชาญมากในการนำผู้เข้าร่วมเข้าสู่กิจกรรม ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจต่อพฤติกรรมระหว่างพี่น้อง ซึ่งเป็นอะไรที่ทุกคนเคยผ่านมาแล้ว  

ที่สำคัญ ผู้เขียนได้ให้เทคนิคที่ดีในการแก้ปัญหาการทะเลาะ การเปรียบเทียบระหว่างพี่น้อง รวมทั้งคำแนะนำในการวางตัวของพ่อแม่ในแต่ละเหตุการณ์หรือเรื่องราว ชอบหลายเทคนิคเลย ตัวอย่างเช่น ทำยังไง พูดยังไงไม่ให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่รักไม่เท่ากัน การไม่กำหนดบทบาทของลูก (เช่น ต่อว่าพี่ว่าใจร้ายที่ไม่ให้ของน้อง) อยากให้ลองอ่านดู น่าสนใจทุกเรื่องค่ะ แต่อยู่ที่ตัวเราว่าจะสามารถมีสติหยิบเอามาใช้ได้ทันเวลาหรือไม่ 

ดังข้อสรุปที่เขียนไว้ปกหลัง

  "....สิ่งที่เป็นความคาดหวังสูงสุดของพ่อแม่ คือได้เห็นลูกๆอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และช่วยเหลือพึ่งพากันได้ในอนาคต
       แต่ช่างเป็นปัญหาที่ยากและยิ่งใหญ่จริงๆ ...นอกจากให้การเลี้ยงดูที่ดีแล้ว ยังต้องแสดงให้ลูกมั่นใจว่ามีความปลอดภัยและรู้สึกอบอุ่น เป็นคนพิเศษ และเป็นที่รักของพ่อแม่อยู่เสมอ
       ที่สำคัญ พ่อแม่ต้องแสดงให้ลูกๆ ทุกคนเก๊นถึงข้อดีของการแบ่งปันให้กัน และช่วยเหลือดูแลกันและกัน อีกทั้งยังต้องหาทางทำให้พี่น้องรับรู้และเข้าใจว่า สักวันหนึ่ง พวกเขาสามารถช่วยเหลือดูแล และพึ่งพากันได้"


ระดับความน่าครอบครอง
เรื่องทะเลาะกันของพี่น้อง เป็นละเอียดอ่อนจริงๆค่ะ ละเลยไม่ได้ เด็กอาจโกรธแล้วลืม แต่ไม่สามารถคลี่คลายได้ด้วยตนเอง นานๆเข้าจะสะสมเป็นปม แนะนำให้อ่านเล่มนี้ค่ะ เพื่อที่เราจะช่วยเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสให้เด็กๆได้ลองแก้ปัญหาร่วมกัน ลดความรู้สึกที่พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น