วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2557

รีวิวหนังสือพ่อแม่ : อิสระอย่างยิ่ง ดังอิสรา Home-made School II

ข้อมูลหนังสือ
ผู้เขียน    ยิ่ง อิสรา วังวิญญู
จำนวนหน้า            290 หน้า
สำนักพิมพ์             : วงน้ำชา
เดือนปีที่พิมพ์        : 6/2551



คำชวนอ่าน (ปกหน้าและหลัง)
เมื่อเด็กเพี้ยนไปเรียนเปียโนที่ยาโรสลาฟล์

ความเห็นส่วนตัว
ได้มีโอกาสพบเจอกับยิ่ง ผู้เขียน ตอนที่ไปอบรม เลี้ยงลูกด้วยจิตตื่นรู้ของ อาใหญ่ (วิศิษฐ์ วังวิญญู)  ซึ่งเป็นคุณพ่อของยิ่งนั้นเอง เราได้พูดคุยและสอบถามยิ่งถึงเรื่อง home school แบบ unschooling  เรื่องการเลี้ยงดูแบบไม่เทศน์ ไม่สอน  และเรื่องอีกมากมายในมุมมองของลูก  ด้วยความสงสัยว่า ทำไมจากเด็กที่ติดเกมคอมพิวเตอร์ กลายเป็นเด็กที่มีวินัยมากทั้งในเรื่องเรียน และการใช้ชีวิต  เป็นเด็กที่มีความคิด

แม้ร่างกายของยิ่งจะไม่อำนวยให้ใช้ชีวิตได้อย่างเด็กหนุ่มทั่วไป มือข้างหนึ่งไม่มีแรง เล่นเปียโนได้เพียงข้างเดียว  (ผลสืบเนื่องจากการผ่าตัด) แต่ยิ่งยังอารมณ์ดี มีมุขปล่อยมาเรื่อยๆ แผงไปด้วยความมั่นใจและความจริงใจ เราจึงอดใจไม่หยิบผลงานเขียนของยิ่งติดมือกลับบ้านมาด้วย เพราะรู้ว่าพ่อลูกคู่นี้ "ไม่ธรรมดา" 

เรื่องราวในหนังสือเป็นเขียนจดหมายอิเล็กทรอนิคส์ หรือ อีเมล ตอบกันระหว่างยิ่ง กับคุณพ่อ และบรรดาเพื่อนๆและกัลยาณมิตรในชุมชน เล่าเรื่องราวของยิ่งในวัย 16 ปีเดินทางตามความฝันเพื่อไปเรียนเปียโนไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนไปถึงรัสเซีย ประเทศที่สร้างนักเปียโนระดับโลกมานับไม่ถ้วน  ดูเหมือนไม่น่าจะมีอะไรน่าสนใจมากมายก็คงเหมือนเด็กทั่วไปที่ได้ไปเรียนนอก ที่เด็กไปเรียนนอกก็จะต้องประสบกันทั้งเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา สิ่งแวดล้อมที่ช่างสุดขั้วกับบ้านเรา แต่ยิ่งสามารถถ่ายทอดทุกตัวอักษรออกมาเป็นเรื่องราวที่ช่างน่าติดตามมาก (อ่านเพลินจริง) ละเมียดละมัยในการถ่ายทอด มีบุคลิกของตัวเองอย่างชัดเจน แผงไปด้วยปรัญญาของการใช้ชีวิต การจัดการความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของตนเอง ซึ่งในบางเรื่องบอกตามตรงว่า ตัวเราเองยังเพิ่งมาคิดได้เมื่อวัยเข้าเลขสามด้วยซ้ำ  ย้อนคิดไปว่าตอนอายุ 16 เราจะคิดอะไรได้อย่างนี้หรือไม่ ตอบได้เลยว่า ไม่มีทาง ขอยกบางตอนที่ยิ่งเขียนไว้อย่างน่าประทับใจ

  ทุกๆภาษา มันก็ร่ำรวยในตัวของมันเอง การจะเข้าใจภาษาไม่ใช่แค่ต้องรู้จักคำมากๆ แต่ต้องเข้าใจอารมณ์ของคำแต่ละคำ เข้าใจบุคลิกของคนชาตินั้น ว่าเขาใช้ถ้อยคำเหล่านั้นอย่างไร เพราะภาษามักจะเชื่อมโยงกับเรื่องราว กับผู้คน กับอะไรต่อมิอะไรมากมาย ถ้าไม่มีเรื่องราวจะบอกเล่า ภาษาก็คงไม่เกิดขึ้นบนโลกนี้มั้ง 


...จะดีกว่ามั้ย ถ้าเราจะพยายามเข้าใจผู้อื่นเสียก่อน ที่จะหวังให้เขามาเข้าใจเรา เพราะสังคมปัจจุบันปัญหาก็คือมีแต่คนอยากพูด แต่ไม่มีใครอยากฟัง ทุกคนอยากให้คนอื่นมาเข้าใจ แต่ไม่มีใครพยายามจะเข้าใจคนอื่น  .... ถ้าเราเข้าใจคนอื่น เราอาจเข้าใจตัวเองมากขึ้น ถ้าเราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น คนอื่นก็อาจเข้าใจเรามากขึ้นเช่นกัน


... เมื่อวานได้อ่านเกี่ยวกับเรื่อง "เดินออก" ยิ่งทำให้หลุดจากร่องอารมณ์ ร่องความคิด รู้สึกตัวเองเป็นอิสระจากกรงขังบางอย่าง ผมว่าสังคมปัจจุบันมันทำให้คนแหย จะริเริ่มทำอะไรใหม่ ก็คิดโน่นคิดนี่มากเสียจนไม่ต้องทำอะไรกันพอดี การจะก้าวออกจากระบบการแข่งขัน ก็จะถูกสังคมมองว่า ล้มเหลว ไม่เก่ง การจะทำงานให้น้อย ก็จะโดนมองว่าขี้เกียจ  ผมเคยอ่านงานของท่ายติช นัท ฮันห์ ท่านบอกว่า ถ้าคนเราทำงานน้อยลง หาเงินให้น้อยลง มีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น ทำงานด้วยความรัก และไม่ต้องเร่งรีบ คงจะดีขึ้นเยอะ อาจจะเป็นหนทางของเศรษฐศาสตร์ยุคต่อไปก็ได้ เพราะตอนนี้คนยิ่งทำงานเยอะ ยิ่งหาเงินเยอะ บริโภคเยอะ สิ้นเปลืองทรัพยากรก็เยอะ ทำอะไรก็เยอะไปหมด แต่สิ่งที่น้อยลงคือ ความสุข  เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำอะไรให้น้อยลง และหันมาหาความสุขกันมากขึ้น อันนี้มันก็แค่ความฝันของผมเท่านั้นแหละครับ


เห็นได้ชัดว่า ความงดงามและเบิกบางทางความคิดและปัญญาที่เกิดขึ้นกับเด็กวัย 16 คนนี้มีเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูและได้รับการศึกษาแบบ home school  ที่เป็นอิสระในการเรียนรู้  ตามแนวการสอนแบบไม่สอน ไม่เทศน์ ของอาใหญ่  แปลกมากที่พ่อไม่ได้สอนอะไรมาก แต่เน้นการให้คำแนะนำ ให้แนวทางแบบเปิด ให้ลูกได้รู้คิดรู้ตื่นด้วยตนเอง  ยิ่งถูกพ่อเป็นแบบไม่รู้ตัว เป็นแนวให้คำแนะนำ หรือ coaching กับแนวทางการดำเนินชีวิตและกระตุ้นให้ลูกได้ลองคิดหรือทำในอีกมุมหนึ่งโดยไม่บังคับ  กลับกลายเป็นวิธีที่ได้ผลดีกว่าสั่งให้ทำเสียอีก  

ความน่ามีไว้ครอบครอง
อ่านแล้วสนุก ได้แง่คิดในการเลี้ยงลูกแบบอ้อมๆ  ใครที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับว่าเด็ก Home school มันจะสู้เด็กในระบบได้หรือ  และคำถามในใจว่าผลลัพท์มันจะออกมาเป็นยังไง  "ยิ่ง" เป็นหนึ่งใน masterpiece ของ Home school อย่างชัดเจน   (คือส่วนตัว อ่านแล้ว บอกอยากให้ลูกเป็นแบบนี้อ่ะ
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เราคงไม่ได้ลงเอยกับการทำ Home school ให้ลูก  แต่ก็ยังมั่นใจว่า ถ้าเราได้อยู่และใช้เวลาไปกับลูกอย่างคุณภาพ เพราะทุกวันคือการเรียนรู้ของลูก  อ่านเล่มนี้แล้วก็มีความหวังว่าเราก็น่าจะทำได้เช่นกัน เพราะสิ่งที่หวังจากลูก ไม่ใช่ว่าอยากให้เขาเรียนเก่ง แต่อยากให้เขาได้รู้คิด รู้จักเข้าใจ และเคารพตัวเอง ซึ่งสิ่งต่างๆจากนำพาไปถึงการเข้าใจและเคารพผู้อืน  




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น