วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

รีวิวหนังสือ: สูตรสำเร็จ ฝึกลูกพูดเก่ง

สูตรสำเร็จ ฝึกลูกพูดเก่ง


ข้อมูลหนังสือ
ผู้เขียน    สองขา
จำนวนหน้า            151 หน้า
สำนักพิมพ์             : รักลูก
เดือนปีที่พิมพ์        : 11/2009

คำชวนอ่าน (ปกหลัง)
ปัญหาทักษะการพูด ใครว่าเรื่องเล็ก ถ้าเด็กไม่พูด พูดช้า พูดน้อย พูดไม่ชัด พูดเร็ว พูดไม่เป็นภาษา พูดดัง พูดเบา พูดมาก พูดติดอ่าง พูดสลับคำ พูดสื่อความหมายได้ไม่ตรงกับที่ใจนึก ฯลฯ
อย่ารอช้า! สิ่งสำคัญคือท่าทีในการมองปัญหาของพ่อแม่และวิธีปฏิบัติที่สอดคล้องกับปัญหานั้น อย่าลืมว่าภาษา การพูด การสื่อสาร เปรียบเสมือนกุญแจดอกใหญ่ของเด็กที่จะสื่อความคิด แสดงความต้องการของตนเอง และสามารถสื่อสารเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ ถ้ารากฐานในทักษะด้านภาษาไม่ดีพอ ก็ยากที่จะทำและเรียนรู้ในทักษะใหม่ๆ

รูปแบบการนำเสนอ
หนังสือไม่หนามาก เนื้อหาไม่แน่นจนอึดอัด แต่ก็ให้ข้อมูลครบเรื่องการพูดของลูก สีสันสดใส อ่านแล้วไม่เบื่อ มีรูปประกอบน่ารักๆ
มีที่จดบันทึก ใต้การทำกิจกรรมต่างๆ ที่หนังสือนำเสนอ รวมทั้ง ท้ายเล่มมีที่ให้จดบันทึกลูกรัก เกี่ยวกับพัฒนาการ และปัญหาของลูก สามารถเขียนหรือเอาไปดัดแปลงใช้ได้


ความเห็นส่วนตัว
หยิบเล่มนี้มาอ่านตอนไปสัมมนา (อีกแล้ว) เพราะช่วงนี้ธันธันก็ขวบสี่เดือนแล้ว แต่ยังไม่ยอมพูดสักคำ คำที่เคยพูดได้ก็เลิกไม่พูดอีกแล้ว ถึงยังไม่พูดแต่ธันธันฟังเข้าใจและทำตามที่สั่งหรือบอกได้  เล่มนี้เคยอ่านไปตอนฮั่นเด็กๆ เพราะฮั่นพูดช้าเหมือนกัน บอกเลยว่าจำเนื้อหาไม่ได้แล้ว มามี้เลยขอย้ำความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการพูด และแนวทางในการส่งเสริมลูกน้อยในการพูดอีกสักที

“สองขา” ผู้เขียนก็เป็นคุณแม่ที่มีลูกพูดช้า ต้องไปเรียนกับครูฝึกพูดอยู่หลายปี ได้เขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากชีวิตจริงในการสอนและพัฒนาการสื่อสารของเด็ก การถ่ายทอดของเนื้อหาเลยเข้าใจง่าย และเป็นกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับมากเกินไป ผู้เขียนเริ่มหนังสือ ปลุกใจพ่อแม่ ไม่ใช่ ให้พ่อแม่เข้าใจว่า “ใครๆก็สื่อสารได้” ลิงก็ยังทำได้ ทำไมลูกเราจะทำไม่ได้ งั้นมาเข้าใจถึงที่มาของการสื่อสาร และพัฒนาการทางภาษาของเด็กที่ควรจะเป็น ชอบที่ผู้เขียนเน้นว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน พี่น้องกันก็อาจมีพัฒนาการต่างกัน อยู่ที่เรา พ่อแม่จะสังเกต ส่งเสริม และแก้ไขให้ลูกในแต่ละปัญหายังไง เรื่องของพัฒนาการ

ว่าแล้ว ก็กะว่าจะตั้งใจอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะตอนสมัยฮั่น จำได้ว่าเราแอบเปิดดูบท “แนวทางในการแก้ไข” กับ “ฝึกลูกพูด” ไปเลย เพราะอยากรู้แต่วิธีแก้ไขด่วนๆ แต่ก็ไม่ค่อย get ว่าเพราะอะไร เอาละมาตั้งใจแล้วกลับมาอ่านต่อ ค่อยๆเป็นค่อยๆไป กว่าสัมมนาจะเริ่ม สรุปอ่านแป๊บเดียวไม่ถึงชั่วโมงก็จบ

พอเข้าใจพัฒนาการในการสื่อสารของเด็กแล้ว ผู้เขียนได้อธิบายปัจจัย 5 ประการ ที่ทำให้คนเราพูดสื่อความหมายได้รู้เรื่อง นั้นก็คือ หู สมอง ปาก สิ่งแวดล้อม และสิ่งเร้า  โดยอธิบายปัจจัยแต่ละประการอย่างละเอียด เชื่อมโยงกับการสื่อสารของเด็กตามวัย สอดแทรกเคล็ดลับและตัวอย่างที่พ่อแม่ควรทำเพื่อช่วยลูกให้พูดสื่อสารได้ตามวัย


หลังจากเข้าใจองค์ประกอบของการสื่อสารแล้ว ผู้เขียนอธิบายเรื่องปัญหาในการพูดของเด็กที่พบได้บ่อยๆ ซึ่งก็ตามคำปกหลังด้านบน แล้วก็ค่อยๆ ไล่แนวทางในการแก้ไขในแต่ละปัญหา และ ยกกิจกรรมที่ใช้ “ฝึกลูกพูด” มีรูปประกอบให้เห็นภาพด้วย  ซึ่งพ่อแม่ต้องดูวัยของลูกแล้วลองนำไปประยุกต์ใช้ดูนะคะ ส่วนตัวเริ่มจากการฝึกธันธันแบบง่ายๆ เพราะธันยังไม่มีสมาธิพอจะนั่งฟังหรือทำตามที่สั่งมากนัก เราเอาวิธีการสอนแบบ “รูปธรรม” คือ สอนจากของจริง และฝึกแบบเริ่มจากสิ่งที่ลูกสนใจ เพื่อให้ธันธันชอบ และให้ความร่วมมือ บวกกับต้องทำให้สนุกสนาน เพราะวัยขวบกว่านี้ เกรียนมาก ไม่พอใจหรือเบื่อก็เดินหนีไปเล่นอย่างอื่นๆ ทิ้งแม่ไปไม่ให้สุ่มให้เสียงได้

อย่างที่ผู้เขียนกล่าวในบทนำว่า
               “ไม่มีไม้เท้ากายสิทธิ์ในชีวิตของพ่อแม่ที่จะแตะโน่น ปิ๊งนี่ แล้วลูกเราจะเป็นไปได้อย่างใจนึก หรือได้ผลดีทันตาเห็น เพราะกว่าที่เด็กคนหนึ่งจะได้เรียนรู้ ต้องอาศัยทั้งเวลา และความอดทน ...

มามี้จะคอยวันที่ธันธัน พูดกับมามี้ นอกจากคำว่า “แหม่ม แหม่ม” (กินนม) เป็น “I Love You”
มามี้จะอดทนและฝึกฝนกันต่อไป

ระดับความน่ามีครอบครอง
สำหรับพ่อแม่ที่คิดว่าลูกตัวเองมีปัญหาเรื่องการพูด หรือสื่อสาร อาจจะเป็นหนังสือเริ่มต้นทำความเข้าใจการสื่อสารที่ดีค่ะ แต่ถ้าลูกมีปัญหามาก คิดว่าหนังสือยังไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาในเชิงลึก เพราะหนังสือเสนอเน้นหาครอบคลุมทุกโรค อาจจะดีกว่าที่จะไปหาหมอ หรือหาหนังสือเฉพาะทางค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น