วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เลือกกิจกรรมหรือเรียนพิเศษ อย่างไรให้ลูกและพ่อแม่มีความสุข (ตอนจบ)

เลือกกิจกรรมหรือเรียนพิเศษ อย่างไรให้ลูกและพ่อแม่มีความสุข ตอนต่อ

คิดสะระตะแล้วเห็นว่าโอเคเกือบทุกข้อยกเว้นข้อ 1 กับข้อ 3 แต่เมื่อลูกอยากรู้อยากลองในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยลองมาก่อน เราก็ยินดี และสนับสนุนสุดๆ  ฮั่นไปเรียนครั้งแรก เตะเข้าประตู ดีใจมาก และแฮปปี้มาก บอกชอบเล่น อยากไปอีก พอครั้งที่สอง-สาม กลับมาบอกเสียใจมาก เพราะเค้าไม่ได้ลูกบอลเลย แล้วก็ไม่ชนะ เราถามว่า ชนะของฮั่นคืออะไร ฮั่นบอก ก็ยิงเข้าประตูไง จุดนี้ทำให้เข้าใจว่า เค้ามองเรื่องการแพ้-ชนะเป็นอย่างไร  เราลองถามย้อนฮั่นว่า มีใครได้ยิงเข้าประตูบ้าง และมีใครยิงไม่เข้าบ้าง อันไหนเยอะกว่ากัน ฮั่นก็ตอบ แต่สุดท้าย ด้วยความเป็นเด็ก เจตจำนงค์ที่อยากจะเป็นผู้ที่ยิงเข้าประตู เพื่อเป็นผู้ชนะ ฮั่นไม่สนใจหรอกว่าใครยิงได้ไม่ได้ ฮั่นไม่ได้อยากไปเล่นเพราะมีเพื่อนๆเล่นกันเต็มไปหมด แต่ตัวเค้าอยากจะบรรลุสิ่งนั้น เมื่อไม่ได้ เพราะทั้งร่างกายไม่เอื้อให้วิ่งทัน กระแทกคนอื่นแย่งลูกได้ ก็เป็นธรรมดาที่จะผิดหวังเสียใจ  ได้แต่ให้กำลังใจเด็กน้อย ลองให้เค้าคิดทบทวนดูเองและลองกลับไปเล่นใหม่ว่า ยังคงความคิดเดิมมั้ย



จะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกได้อย่างไร
พูดยากเหมือนกัน แต่เหมือนเวลาทำงาน project เราต้องมีการทำ protect the plan เอาไว้อยู่แล้ว (ระดับนี้แล้วนะฮะ) ในกรณีว่าลูกมีโอกาสล้มเลิกเปลี่ยนใจกลางคัน เราก็มีแผนสำรอง แบ่งเป็น2 ช่วง 

I. ช่วงก่อนสมัคร

1.       ให้ลูกไปดู ไปทดลองการเรียน หลายครั้งหน่อย ไปสัมผัส จนลูก(และพ่อแม่) แน่ใจ

2.       ศึกษาเงื่อนไขการเข้าเรียน ขาดเรียน เรียนชดเชยให้ถ้วนถี่ ทั้งโรงเรียนที่จะไปเรียนและที่อื่นๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบเวลาไปคุยต่อรองกับโรงเรียน

3.       คุยกับโรงเรียน หรือคุณครูให้เข้าใจสภาพของลูกเรา อาจจะขอต่อรอง ว่าเรียนเป็นครั้งๆ  หรือครึ่งคอร์ทก่อนจนกว่าจะแน่ใจแล้วจะลงคอร์ทเต็ม

4.       แนะนำเพื่อนๆของลูกมาเรียนด้วยกัน จะได้มีคนช่วยกันเรียนให้รอด

5.       บอกกับลูกล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเลิกกลางคัน  ลูกต้องมี commitment เมื่อเลือกเรียน ต้องทำจนจบ หากเลิกกลางคัน เครดิตในการขอครั้งหน้าอาจจะลดลง (ส่วนตัว กะว่า ถ้าโตขึ้น จะจับลูกเซ็นสัญญาซะเลย มีบทลงโทษด้วย หึหึ)



II. ช่วงเข้าเรียนแล้ว

1.       ขอลดชั่วโมงเรียนให้น้อยกว่าเวลาจริงในช่วงแรก ถ้าเห็นว่าลูกไม่ชอบหรือไม่อยากเรียนต่อ (อันนี้ต้องตกลงกับครูก่อนว่าถ้าเห็นสภาพเด็กไม่ให้ความร่วมมือก็เลิกก่อนได้ พ่อแม่ไม่ควรแทรกแซงในชั่วโมงเรียนของลูก เพื่อให้คุณครูทำงานง่าย และเด็กให้ความเคารพครู)

2.       เลื่อนการเรียนออกไป ในวันเวลาที่ดูว่า ปัจจัยทางกาย และจิตใจของลูกไม่พร้อมที่จะเข้าเรียน เช่น ง่วงนอน ไม่สบาย งอแง

3.       สังเกตสภาพการเรียนอย่างใกล้ชิด อาจจะขอครูให้เพิ่มลดอะไรที่ยาก/ง่ายเกิน ต้องปรึกษาโดยไม่มีเด็กนะคะ เด็กๆฉลาดและรู้ว่า ถ้าพ่อแม่ไม่ชอบครู ก็มีข้ออ้างไม่เรียนต่อได้

4.       ลองเปลี่ยนครู หรือขอเปลี่ยนกลุ่มเล็กลง ถ้าทำได้ โดยไม่ติดข้อจำกัดของโรงเรียน

5.       กลับไปเอา inspiration  ของลูกมาคุยกันอีกที หรือให้กำลังใจลูกให้ลองทำดูใหม่ ไปทำกับลูก

6.       ไม่ลืมที่จะชื่นชมลูก หรือผลงานของลูก เป็นประจำสม่ำเสมอ และอย่างสมเหตุสมผล (อย่างให้เกินไปจนไม่น่าเชื่อถือ) ให้ลูกเกิดความภูมิใจและอยากทำต่อ



เย็นนั้น กลับบ้านไปคุยกับฮั่น ให้ฮั่นเล่าให้ฟังว่าไปเรียนมาเป็นยังไงบ้าง แล้วอยากไปเรียนต่อมั้ย ฮั่นก็เล่าให้ฟังและบอกอย่างชัดเจนว่าไม่อยากไป  ซึ่งเราก็ลองทุกข้อแล้ว ดูจะไม่สามารถเรียกความอยากไปเรียนของฮั่นกลับมา เราก็โอเคและเคารพในสิ่งที่ลูกตัดสินใจ (ถึงจะเป็นการตัดสินใจของเด็กสี่ขวบครึ่งก็เถอะ) 

เมื่อย้อนกลับไปดูสิ่งที่ตัวเองคิด มีหลายอย่างที่เราเองก็มองข้ามไปเพราะยึดมั่นถือมั่นในเป้าหมายของตัวเองที่อยากให้ลูกออกกำลังกายกับเล่นกับเพื่อนเยอะๆ แต่เมื่อเป้าหมายของลูกที่รู้สึกสนุกเมื่อชนะและได้เตะบอล มันจึงไม่ตรงกันนั้นเอง

เมื่อคนลงปฏิบัติจริงยืนกรานไม่ไปต่อ แม่ก็ไม่ขัดขวางใดๆ ด้วยเหตุผลง่ายๆว่า ฝืนไปลูกก็ไม่มีความสุข อีกอย่าง การบังคับให้ทำในสิ่งที่เค้าไม่ได้แฮปปี้ที่จะทำ มีโอกาสว่าลูกจะปฏิเสธหรือเกลียดสิ่งนั้นในอนาคต  เรากับ Hubby คิดว่าเราควรหยุดช่วงเวลาที่ลูกรู้สึกไม่ดีกับกีฬานี้ไว้ก่อน เพราะเราทั้งสองรู้ดีว่าฮั่นยังสนุกกับการเล่นฟุตบอลมากมาก  ได้แต่รอจนฮั่นพร้อมทั้งร่างกาย และวุฒิภาวะที่จะเข้าใจเรื่องแพ้ชนะ ก็ไม่สายที่จะพาไปเรียนใหม่ถ้าลูกต้องการ

ทุกวันนี้ ถึงไม่ได้ไปเรียนฟุตบอล แต่ฮั่นก็ยังเล่นบอล สนุกกับการเตะฟุตบอลที่บ้านกับพ่อกับแม่ แถมยังเอาธันธันมาเล่นด้วย แกล้งแพ้บ้าง ชนะบ้าง  ที่ภูมิใจที่สุดคือ ฮั่นแกล้งยอมแพ้ให้ธันธัน ..ในบางจังหวะ ...แค่นั้น มามี้ก็พอใจสุดสุดแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น