วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557

รีวิวหนังสือ: คำถามวิเศษ เปิดประตูใจเด็กและพ่อแม่

คำถามวิเศษ เปิดประตูใจเด็กและพ่อแม่

ข้อมูลหนังสือ
ผู้เขียน       Mihiro Matsuda, Masato Homma
ผู้แปล        ธิดารัตน์ ซาโต้
จำนวนหน้า 176 หน้า
สำนักพิมพ์ : สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)  สสท.



คำชวนอ่าน (ปกหน้า)
34 คำถามเพื่อให้พ่อแม่ได้ทบทวนตนเอง
อันจะนำไปสู่ความสุขและความก้าวหน้าของลูก
เพราะเด็กทุกคนมีความ พิเศษ
คงน่าเสียดาย หากการสื่อสารและวิธีปฏิบัติของผู้ใหญ่บดบังแวว” ตาอันสดใส
และ แวว” ความสามารถของเด็กไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

รูปแบบการนำเสนอ
ในเนื้อหามีไฮไลท์คำถามและข้อความสำคัญให้ดูชัดเจน เหมือนเวลาเราอ่าน Textbook ไปแล้วต้องใช้ไฮไลท์ขีดที่ต้องการเน้นคำ ทำให้เวลาอ่านสามารถจับใจความได้เร็ว เหมาะสำหรับคนที่ชอบอ่านหนังสือแบบแสกนแบบรวดเร็ว แถมยังช่วยให้จำได้ดี หาง่ายเวลาอ่านซ้ำ  มีการ์ตูนและไอคอนน่ารักๆ คั่นตามบท พร้อมมีผลลัพท์สำคัญที่จะได้จากการสื่อสารกับลูกตามประเภทของคำถามในบทนั้นๆ นอกจากนี้ หนังสือยังพิมพ์ด้วยกระดาษถนอมสายตา (Green Read) ด้วย


ความเห็นส่วนตัว
หยิบมาอ่านเพราะช่วงหลังรู้สึกว่าการสนทนากับฮั่นมันไม่ค่อยsmooth เท่าไร คุยไปแล้วเกิดความเงียบหงั่น ฮั่นไม่ตอบบ้าง งอนหรือโกรธบ้าง หรือไม่ก็ไม่ยอมคุยไปดื้อๆ เลยต้องหาตัวช่วย เมื่ออ่านไปก็พบว่า เราก็มีใช้คำถามวิเศษอยู่หลายอันเหมือนกันจาก 34 คำถามที่ผู้แต่งนำเสนอ ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะใช้การพูดคุยกับลูก เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็ก เพื่อช่วยดึงกำลังใจและความสามารถที่ไร้ขีดจำกัดของเด็กออกมา และยังเป็นคำถามสำหรับถามพ่อแม่ให้ทบทวนและเข้าใจตนเองซึ่งจะช่วยส่งผลให้การสื่อสารกับเป็นไปในเชิงบวกและสร้างความสัมพันธ์ท่ีดียิ่งขึ้น


ชอบ concept ของหนังสือที่ว่า คำถามหนึ่งคำถามทำให้เด็กเปลี่ยนแปลงได้มากมาย แค่นี้ก็น่าสนใจ อยากจะหยิบขึ้นมาอ่านแหล่ะ ของผู้เขียนแจ้งกฎกติกาให้พ่อแม่ทุกคนเข้าใจและปรับตัวปรับหัวสมองตั้งแต่เริ่มต้นเล่ม เพื่อให้สามารถสื่อสารกับลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถเข้าถึงหัวใจลูกได้ตามวัตถุประสงค์ของหนังสือ ที่ว่า ทุกคำตอบเป็นคำตอบที่ถูกต้อง และพ่อแม่ต้องรับฟังทุกคำตอบ

คำถามวิเศษเป็นคำถามที่ง่ายๆ เป็นแนวปลายเปิด ไม่ชี้นำไม่กดดันหรือคาดคั้นลูกเกินไป แต่พ่อแม่อย่างเราก็คงต้องเอาปรับภาษาให้เข้ากับตัวเด็ก และสถานการณ์เพิ่มเติมหน่อยด้วยเพราะเป็นหนังสือแปล จึงทำให้มีบ้างคำถามที่อ่านแล้วต้องกลับไปอ่านซ้ำอีกที เพราะไม่เข้าใจว่าหมายความว่ายังไงเช่น เรื่องไหนที่คิดว่าราบรื่น” หรือ เมื่อจบเรื่องนี้แล้ว จะได้รับพลังอะไร”  ผู้แปลแปลตรงๆตามภาษาพูดของคนญี่ปุ่น คือคนญี่ปุ่นเค้าถามกันเป็นปกติ แต่ถ้ามาถามคนไทย ก็อาจจะแปลกๆงงๆกัน  เมื่ออ่านคำอธิบายภายในบทก็เริ่มเข้าใจและสามารถเปลี่ยนคำถามให้เป็นภาษาที่พูดคุยกับลูกได้เข้าใจ

คำถามส่วนใหญ่จะเหมาะกับเด็กที่โตหน่อย บ้างคำถามเอาไปใช้กับผู้ใหญ่ยังได้เลย เช่น ตอนไหนที่ใช้ความพยายามมากที่สุด“  ลองถามสามีระหว่างไปทำงาน สามีตอบ ก็ตอนที่ไม่มีลูกค้าไง ขำดีเหมือนกัน  นอกจากการใช้คำถามแล้ว ผู้เขียนก็ได้สอดแทรกเคล็ดลับในการสื่อสารกับลูกด้วยการที่พ่อแม่ต้องรู้จักทบทวนตัวเอง ให้ฝึกรับรู้และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกตัวเองก่อน และวิธีการถ่ายทอดผ่านคำพูดที่แสดงความรู้สึกของตนเอง แทนการพูดหรือถามคำถามเชิงสอบสวนหรือตำหนิ ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น ควรบอกลูกไปว่า แม่เป็นห่วงกลัวลูกจะเป็นอะไร แทนที่จะพูดว่า ทำไมลูกกลับบ้านช้า รู้มั้ยมันอันตราย”  (อันนี้จะเก็บไว้ใช้ตอนฮั่นธันเริ่มหนุ่ม แล้วกลับบ้านดึกเพราะหนีเที่ยวกับเพื่อน) 

หนังสือปิดท้ายได้อย่างน่ารัก ด้วยเคล็ดลับที่ทำให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุขคืออะไร ไม่ขอเฉลยนะคะ อยากให้ไปอ่านเอง แต่คำตอบนี้ช่างเข้าใจแม่อย่างเราๆจริงๆ และ
อ่านจบเล่ม ก็จินตนาการไปพล่างว่าจะเอาไปคุยกับฮั่นยังไงหรือตอนไหนดี ตั้งใจกับตัวเองว่าจะมีสติในการพูด คุยกับลูก(สามี และญาติโยมมากขึ้น หวังใจว่านอกจากจะช่วยพัฒนาลูกได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแล้ว ยังจะช่วยให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวจะดียิ่งๆ ขึ้นไป สาธุ  

ระดับความน่ามีครอบครอง
สำนักพิมพ์นี้มีแต่หนังสือดีๆค่ะ เก็บไว้ติดบ้าน ได้ใช้ตั้งแต่ลูกเริ่มพูดได้ ยันเป็นหนุ่มเลย เชียร์ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น