วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2557

รีวิวหนังสือพ่อแม่: คุยกับลูกด้วยวิธีชี้แนะดีกว่า (COACHING CONVERSATION)

คุยกับลูกด้วยวิธีชี้แนะดีกว่า (COACHING CONVERSATION)

ข้อมูลหนังสือ

ผู้เขียน    โคะมุระซะกิ มะยุมิ

ผู้แปล     อุไรวรรณ จิตเป็นธม คิม

จำนวนหน้า            312 หน้า

สำนักพิมพ์             : INSPIRE

เดือนปีที่พิมพ์        : 10/2012

 

 

คำชวนอ่าน

เทคนิคการคุยกับลูก 51 สถานการณ์ ช่วยให้ลูกคิดเป็น ทำเป็น เเละยืนหยัดได้ ด้วยตนเองในอนาคต

 

คำนิยม

"พูดจาภาษาบวก" ควรต้องได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้เป็นวิถีชีวิตของเราๆ เพื่อเด็กไทยจะได้พัฒนาให้มีคุณภาพมากขึ้น รู้จัก "จัดการ" กับความขัดเเย้งเเละลดความหงุดหงิด พร้อมทั้งสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข สร้างสรรค์ เเละสันติ

รองศาสตราจารย์ ดร.สายสุรี จุติกุล

ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันเเละเเก้ไขความรุนเเรงต่อเด็ก

มาช่วยกันทำให้ลูกหลานไทยเติบใหญ่ พึ่งตนเองได้ เเละมีความสุขด้วยการเรียนรู้สิ่งดีๆ จากหนังสือเล่มนี้กันเถอะ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เเพทย์หญิงเพ็ญศรี พิชัยสนิธ

นายกสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี

 

ต่อจากนี้ไปเมื่อดิฉันมีโอกาสคุยกับพ่อเเม่หรือได้ยินพ่อเเม่ปรารภเรื่องการสื่อสารกับลูกอีก ดิฉันจะไม่ลืมที่จะถามว่า "คุณได้อ่านหนังสือเรื่องคุยกับลูกด้วยวิธีชี้เเนะดีกว่า ของ โคะมุระซะกิ มะยุมิหรือยัง ถ้ายังก็รีบไป ซื้อมาอ่านเสียเดี๋ยวนี้เลย"

ศรีศักดิ์ ไทยอารี

ผู้อำนวยการสภาองค์การพัฒนาเด็กเเละเยาวชน

 

 

รูปแบบการนำเสนอ

หนังสือมีรายละเอียดที่ครบถ้วนมาก มีการแบ่งบทการนำเสนอได้อย่างชัดเจน การใช้ภาษารื่นตา ภาษาเข้าใจง่าย ไม่สะดุดจนไม่รู้สึกว่าเป็นหนังสือแปล คงมีแค่ชื่อของแม่ลูกเท่านั้นที่ทำให้รู้ว่าอ้อ นี้มันมาจากญี่ปุ่น อะไรประมาณนั้น


จุดเด่นของรูปแบบการนำเสนอที่ชอบสุดสุด คงเป็นการแบ่งรายละเอียดในแต่ละบทย่อย โดยแบ่งเป็น 1) หัวเรื่อง 2) ที่มาของเนื้อหา 3)ตัวอย่างบทสนทนาที่ขัดขวางพัฒนาการลูก 4)ตัวอย่างบทสนทนาที่ส่งเสริมพัฒนาการเป็นสองเท่า  5) เนื้อหาที่อธิบายเหตุผลของการใช้บทสนทนาที่เสนอ และปิดท้ายบทย่อยด้วย 6) จับจุดเพื่อพูดคุยให้ถูกวิธี ทำให้จับใจความได้เร็ว เข้าใจเหตุผลที่ยกมาอธิบายได้ง่ายเพราะเห็นตัวอย่างชัดเจน

 

ความเห็นส่วนตัว

หลังจากอ่านหนังสือ คำถามวิเศษฯ ไปเรียบร้อย เอาเล่มนั้นไปเก็บที่ชั้นหนังสือ ก็เจอเล่มนี้วางอยู่ คิดว่ามาอยู่นานมากแล้ว จริงๆแล้วก็ยังอ่านหนังสือที่มีในบ้านไปได้ไม่ถึง 10% ที่พ่อมันซื้อมาเลย แต่ปกติต้องมีเห็นหน้าปกผ่านตาบ้างอะไรบ้าง  แต่ทำไมเล่มนี้เก็บดีเกินไปเลยไม่เคยเห็นมาก่อน เห็นเนื้อหาเกี่ยวกับการสื่อสารกับลูกเหมือนกัน งั้นเอามาลองเปิดๆอ่านดูละกัน แค่อ่านคำนิยมไปนิดเดียวก็รู้สึก wow มาก เออมันใช่ที่กำลังมองหาอยู่พอดี ได้เรื่องเลย อ่านไม่หยุด วางไม่ลง


ขอแบ่งเนื้อหาของหนังสือเป็น 3 ส่วน คือ บทนำ เนื้อหา และบทส่งท้าย

I. บทนำ - การชี้แนะ จุดไฟให้ลูกเกิด ความสนใจอยากทำ

ในบทนำ ผู้เขียนอธิบาย ความแตกต่างระหว่างการสั่งสอน” กับ การชี้แนะ   ความแตกต่างระหว่าง ให้การสนับสนุน (Support)” กับ ให้ความช่วยเหลือ” (Help) ด้วยการเปรียบเปรยยกตัวอย่างเรื่องราวง่ายๆ อ่านแล้วก็เข้าใจถึงความแตกต่างได้ไม่ยาก ทั้งนี้ เพื่อปูความเข้าใจเกี่ยวกับการชี้แนะ ก่อนจะอธิบายถึง กฎการชี้แนะสามข้อ ซึ่งผู้เขียนนำมาประยุกต์ให้เป็นกฎในการสื่อสารของพ่อแม่ เพื่อใหเป็นไปตามแนวทางของการชี้แนะ และการเลี้ยงดูลูกเพื่อดึงศักยภาพของลูกออกมาใช้ได้ในทุกๆด้าน

 

II.    ส่วนเนื้อหา แบ่งเป็น 5 parts

Part 1 การฟัง

Part 2 การถาม

Part 3 การแสดงการยอมรับ

Part 4 การพูดคุยเพื่อให้ลูกปฏิบัติตาม

Part 5 วิธีเปลี่ยนแปลงลูกในแต่ละสถานการณ์

ในแต่ละpart ก็จะมีบทย่อยๆ ลงไปในแต่ละเคส แต่ละบทสนทนา ซึ่งมีการแบ่งรายละเอียดของเนื้อหาในบทย่อยได้อย่างเป็นระบบ (ที่เขียนไปด้านบนว่า คือ มี แบ่งเป็น 1) หัวเรื่อง 2) ที่มาของเนื้อหา 3) ตัวอย่างบทสนทนาที่ขัดขวางพัฒนาการลูก 4) ตัวอย่างบทสนทนาที่ส่งเสริมพัฒนาการเป็นสองเท่า  5) เนื้อหาที่อธิบายเหตุผลของการใช้บทสนทนาที่เสนอ 6) จับจุดเพื่อพูดคุยให้ถูกวิธี) จุดเด่นของบทนี้ คือ เป็นหนังสือที่ยกเคส หรือสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันระหว่างแม่กับลูก ซึ่งอ่านแล้ว เฮ้ย ตรงมากอ่ะ มันใช่เลยเจอแบบนี้เหมือนกัน ไม่ต้องคิดจินตนาการเองเยอะ ไม่เหมือนหนังสือหลายๆเล่มที่เอาตัวอย่างมาแล้วเราไม่ค่อยอินเท่าไร







นอกจากนี้ ก่อนจบแต่ละ part จะมี ทักษะพื้นฐานในแต่ละสถานการณ์ เหมือนเป็นบทสรุปของแต่ละหัวข้ออีกรอบ บวกกับเทคนิคหรือเคล็ดลับที่พ่อแม่ควรรับรู้และปฏิบัติกับลูกเป็นนิสัย เช่น ทักษะพื้นฐานในการพูดจูงใจลูก ผู้เขียนเสนอเทคนิค “I message” ที่เป็นการบอกความรู้สึกของผู้พูด ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการใช้“you message” และทำให้ลูกรับรู้และเข้าใจในสิ่งที่พ่อแม่อยากจะสื่อสารมากกว่า บทนี้ช่วยเสริมให้เราเข้าใจสาระสำคัญหรือวิธีการชี้แนะที่ผู้เขียนอยากจะสื่อสารได้อย่างดีที่เดียว เพื่อให้พ่อแม่เข้าใจ และทำหน้าที่ของการเป็นผู้ชี้แนะให้ได้ดีที่สุด  

 

III.  บทส่งท้าย แรงขับเคลื่อนสามประการที่ช่วยสนับสนุนคุณ

ผู้เขียนส่งท้ายบทด้วยการให้พ่อแม่กลับมามองตัวเอง ให้ความสำคัญกับตัวพ่อแม่เอง เพราะคุณไม่สามารถเป็นผู้ชี้แนะหรือตัวอย่างของเด็กที่ดีได้ หากคุณไม่มีแรงขับเคลื่อนในชีวิต หรือผู้สนับสนุนหรือให้กำลังใจในการดำเนินชีวิตของตน ผู้ชี้แนะที่มีความสุข ความพอเพียงพอใจในชีวิตปัจจุบัน ก็จะมีแรงบัลดาลใจและความพร้อมที่จะนำพาและเป็นผู้สนับสนุนในชีวิตของลูกต่อไป 


ผู้เขียนเขียนปิดท้ายสุดๆของหนังสือว่า ไม่มีอะไรสายไปที่จะเริ่มต้น การเลี้ยงลูกไม่ได้มีคำตอบที่ถูกที่สุด แต่ก็ขอให้หนังสือนี้เป็นเช่นแนวทางหรือทางเลือกในการใช้ชีวิตกับลูก พร้อมให้กำลังใจพ่อแม่ทุกคน

 

ระดับความน่ามีครอบครอง

สำหรับตัวเองแล้ว เล่มนี้ the must มาก ต้องมีติดมือคุณแม่สมัยใหม่ทุกคนจริงๆ นำมาประยุกต์ใช้ได้กับลูก กับคนในครอบครัว แม้กระทั่ง นำกลับไปใช้กับคุณพ่อคุณแม่ของเราก็ยังได้ค่ะ

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น